28 พฤศจิกายน 2552

วิปัสสนาธุระ / อบรม

การอบรมแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ
ภาค ๑ เป็นภาคทฤษฎี (ปริยัติ)เรียน ๕ วันๆ ละ ๕ คาบวิชา คือ
ตั้งแต่ ๐๖.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์แล้วอบรมวิปัสสนา ๘.๔๕ – ๑๐.๓๐ น. ๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. ๑๕.๐๐- ๑๖.๓๐ น. และ ๑๘.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. วิชาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาพื้นฐาน จิต เจตสิก รูป นิพพาน สังสารวัฏฏ์ อริยสัจ ๔ ศีลสมาธิ ปัญญา สมถและวิปัสสนากรรมฐาน และสติปัฏฐาน โดยเน้นอบรมให้ปฏิบัติโดยใช้วิธีกำหนด รูป-นาม เป็นอารมณ์ปฏิบัติ ให้พิจารณาอิริยาบทใหญ่ทั้ง ๔ คือ รูป นั่ง-นอน-ยืน-เดิน ให้รู้ทุกข์ และเห็นไตรลักษณ์รูป-นาม เกิด ดับ เพราะเหตุผลที่ว่า จริตคนตามหลักวิปัสสนาแบ่งเป็น ๒ประเภท คือ ตัณหาจริต และ มิจฉาทิฏฐิจริต ตัณหาจริตยังแบ่งออกเป็นตัณหาจริตมีปัญญาน้อยและปัญญามาก ซึ่งโลกปัจจุบันคนส่วนมากอยู่ในประเภทตัณหาจริต ปัญญาน้อย แนวการปฏิบัติที่เหมาะสมก็คือ กายานุ ปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การพิจารณากายในกายคือ การพิจารณารูป-นาม ในอิริยาบทสี่ ซึ่งเป็นอารมณ์หยาบจะเห็นรูปนามเกิดดับง่ายกว่าวิธีอื่นๆ
ส่วนภาค ๒ เป็นภาคปฏิบัติ ๗ วัน ให้อยู่ปฏิบัติแต่ในห้องพักและเดินจงกรมได้แต่รอบๆ เรือนกรรมฐานเท่านั้น มีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคอยส่งปิ่นโตอาหาร น้ำดื่ม น้ำร้อนน้ำเย็นมีบริการพร้อม รับประทานแล้วไม่ต้องล้างปิ่นโต จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยเก็บตลอดทั้ง ๗ วัน ๆ ละ ๓ มื้อลักษณะพิเศษของการปฏิบัติที่นี่ไม่ห้ามรับประทานอาหารเย็น เพราะก่อนเข้ากรรมฐาน และรับอารมณ์กรรมฐานนั้น ท่านวิปัสสนาจารย์ท่านให้รับศีลแปดที่เรียกว่า “อาชีวัฏฐะมะกะศีล” กล่าวคือ ๑. ห้ามฆ่าสัตว์ ๒. ห้ามลักทรัพย์ ๓ . ห้ามล่วงประเวณี ๔. ห้ามพูดเท็จ ๕. ห้ามพูดคำหยาบ ๖.ห้ามพูดส่อเสียด ๗. ห้ามพูดเพ้อเจ้อ และ ๘. ห้ามมิจฉาอาชีวะ
การที่ไม่ต้องอดข้าวเย็น ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่กังวลและไม่เครียด ท่านให้ปฏิบัติตามสบายๆ แบบในชีวิตประจำวัน เคยยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรก็ทำอย่างนั้นตามปกติ แต่ให้สังเกตพิจารณา “รูป” ในอิริยาบถนั้นๆ เช่น“รูปนั่ง”, “รูปนอน” ฯลฯ และห้ามเปลี่ยนอิริยาบถโดยไม่จำเป็น เว้นแต่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์เท่านั้น “รูปเดิน” ให้กำหนดพิจารณาไปที่ขากำลังก้าว (ดังเช่นพระสารีบุตรท่านกำหนดรูปก้าวขาเดินเห็นรูปนามเกิดดับได้ถึง ๖ ขณะในอิริยาบถก้าวเดินปกติ โดยมิจำเป็นต้องเดินนับ ๖ จังหวะเหมือนคนหัดเดิน) แม้จะดูว่าง่ายๆ สบายๆ ก็ตาม ทราบว่าจะมีผู้เข้าอบรมมีอาการเครียดอยู่ทุกรุ่นๆ ละ ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ทนอยู่ไม่ครบหลักสูตรต้องขอออกกรรมฐานก่อนกำหนด ซึ่งผู้เขียนก็สังเกตดูจะเห็นว่า เกิดจากการตั้งใจจริงจังมากเกินไปประการหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะมีทุนเดิมมาไม่ดีอีกประการหนึ่ง สำหรับผู้เขียนพอมีพื้นฐานสมาธิมาบ้าง และเริ่มปฏิบัติวิปัสสนามาบ้างแล้ว นับว่าโชคดีไม่ทรมานเท่าไร แต่ก็มีหงุดหงิดบ้างบางวันที่อากาศร้อนๆ อาศัยอาบน้ำบ่อยๆ ก่อนจะอาบยังต้องกำหนดรู้ทุกข์เสียก่อนกันไม่ให้กิเลสเข้าตัวว่า จะอาบน้ำเพื่อหาความสบาย ต้องทำอะไรก็เพื่อแก้ทุกข์เท่านั้น จะรับประทานต้องกำหนดว่ารับประทานเพื่อแก้ทุกข์ ฯลฯ
ขอสรุปหลักปฏิบัติสำหรับผู้เริ่มเข้ากรรมฐาน ๑๕ ข้อ ของท่านอาจารย์อุบาสิกาแนบ มหานีรานนท์ ผู้ล่วงลับ มีดังต่อไปนี้
๑. ก่อนปฏิบัติต้องทำความเข้าใจหรือศึกษาภูมิของวิปัสสนา ได้แก่รูป-นาม ให้เข้าใจถ่องแท้แน่นอนเสียก่อน
๒. เริ่มลงมือกำหนดที่ รูป-นาม ปัจจุบันเสมอ
๓. ขณะกำหนดหรือดู “รูปนาม” ต้องระลึกเสมอว่า ขณะนั้นกำหนดรูปอะไร หรือนามอะไร
๔. ขณะกำหนดอย่าให้มีความรู้สึกต้องการ หรือความรู้สึกว่าจะกำหนดเพื่อให้เกิดอะไรขึ้น
๕. ไม่ให้กำหนดรูปและนามทีเดียวไปพร้อมกัน
๖. ไม่ควรใช้อิริยาบถย่อย เช่น เคลื่อนไหว เหยียดคู้ ก้ม-เงยเหลียวซ้าย-ขวา และไม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถใหญ่ถ้าไม่จำเป็น (สำรวมอินทรีย์)
๗. ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถใหญ่หรือย่อย ต้องรู้เหตุก่อนว่าเปลี่ยนไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อแก้ทุกข์ หรือมีเหตุจำเป็นจริงๆ
๘. อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ (เคยนั่ง นอน ยืน เดิน อย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น)
๙. ไม่ให้ระวังหรือประคองอิริยาบถจนผิดปกติ
๑๐. ขณะเข้ากรรมฐานห้ามทำสิ่งที่ไม่จำเป็น และไม่จำเป็นไม่ควรพูด
๑๑. ก่อนจะทำสิ่งใดให้รู้เหตุจำเป็นก่อน ทั้งก่อนทำและเลิกทำ
๑๒. อย่าให้รู้สึกว่าที่ทำเพราะจะทำกรรมฐาน
๑๓. อย่าทำความรู้สึกว่าจะกำหนดเพื่อให้จิตสงบ หรือเพื่อให้ได้สมาธิ
๑๔. ขณะทำกรรมฐานให้ทำใจเหมือนดูละคร แต่อย่าไปหัดละคร
๑๕. ผู้ทำวิปัสสนาอย่าตั้งใจ อย่าให้เกิดความพอใจ ให้สังเกตดู ความเกิด-ดับก็พอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น