อ. - อิริยาบถนี่ มีใครยังไม่เข้าใจบ้างคะว่า อิริยาบถคือ อะไร ?
น. - อิริยาบถ ก็คือ อาการนั่ง นอน ยืน เดิน
อ. - อาการนั่ง นอน ยืน เดิน ของใครคะ?
น. - คนไหนนั่ง นอน ยืน เดิน ก็เป็นของคนนั้น เคยได้ยินอาจารย์สอนมาว่า สุนัขใน สุนัขบ้าน มันรู้นั่ง นอน ยืน เดินได้
อ. - อาการนั่ง นอน ยืน เดิน นี่ไม่ใช่อาการของสัตว์ของบุคคล หรือของใครๆ นะคะ ไม่ใช่ของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของ อิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน นี่เป็นอาการของรูป ที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานค่ะ คือ ต้องมีจิตและมีเจตนาที่จะนั่ง นอน ยืน เดิน คนตาย หรือ คนนอนหลับนี้ไม่มีอิริยาบถนะคะ
น. - ดูอิริยาบถทั้งหมดของร่างกาย ?
อ. - ดูที่อาการ ตั้งตัวอยู่ด้วยอาการอย่างไร ให้รู้ในอาการนั้นๆ ดูรูปนั่งต้องรู้สึกนะอย่า "นึก" ว่ารูปนั่งนะ นี่ต้องสังเกต อาศัยความสังเกต นี่สำคัญที่สุดแล้ว ใช้มากที่สุดด้วย สังเกตว่า เรานึกหรือเปล่า หรือเรารู้สึก รู้สึก กับ นึก ไม่เหมือนกัน ต้องไปสังเกตดู ประเดี๋ยวพอเวลาไปนั่ง เราจะไปนึกใจใจว่า รูปนั่ง รูปนอน อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรู้สึก รู้สึกในท่าที่นั่ง ดูรูปนั่งน่ะ หมายถึงว่า รู้สึกอยู่ในท่าที่นั่ง ไม่ใช่นึกอยู่แต่ในใจ ต้องใช้ความสังเกตมาก มิฉะนั้น ก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเรากำหนดผิดไป หรือกำหนดถูกแล้ว ถ้าไม่มีความสังเกต แล้วไม่รู้
น. - เมื่อฟุ้งเกิดขึ้น แล้วเราจะปฏิบัติอย่างไร ?
อ. - ตามธรรมดาโคหนุ่ม หรือสัตว์ที่เราจะจับมาฝึกหัดให้ทำงาน ก็ต้องมีหลัก มีเชือกผูกกับหลัก แล้วก็ต้องมีปฏัก ปฏักนี่ก็เหมือน ปัญญา ที่จะคุกคามอะไรต่ออะไร โคนั้นเหมือน กิเลส กลัวการลงโทษ เพราะกิเลสน่ะ มันกลัวแต่ปัญญาอย่างเดียว อย่างอื่นอะไรต่ออะไร กิเลสไม่มีกลัวเลย ส่วนหลักก็เหมือนสติ แล้วเชือกที่ผูกก็เหมือน วิริยะ เราจะหัด จะให้มันทำอะไร ถ้ามันไม่ทำต้องลงปฏัก พอลงปฏักมันก็กลัว มันก็ต้องทำตาม อย่างนี้จึงจะหัดได้ ถ้าจับมันมาเฉยๆ จะหัดมัน พอถูกตีมันก็วิ่งเตลิดไป เราก็ไล่จับมันไม่ได้ ต้องมีวิธีเดียวอย่างนี้เท่านั้น จิตใจเราก็เหมือนกันถ้าหากว่า หลักเราดี หลักเรามั่นคง เชือกก็ผูกไว้กับหลักจิตก็วิ่งไปไหนไม่ได้ เพราะว่าหลักมั่นคงแล้ว เชือกก็เหนียวปัญญาก็มีพร้อมแล้วด้วย ก็มีโอกาสที่จะอบรมดูได้นาน ว่าง่ายจะสอนให้ดูอะไรให้เป็นไปอย่างไรก็เป็นไปตามใจได้
ที่นี้ถ้าหลักของเราไม่แน่น ปักไม่แน่น คือ สติไม่มีกำลัง พอจิตมันดิ้นหรือโคมันดิ้น ถอนหลัก มันก็พาหลักวิ่งเตลิดไปด้วย เอาละ คราวนี้ถ้าหลักก็แน่นมีสติก็ดี แต่เชือกที่ผูกมันเปื่อย หลักก็ไม่ถอนแต่เชือกขาด มันก็ไปไม่ได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่า จะมีปัญญาก็ตาม ใครจะวิ่งตามไปสั่งสอนมันได้ มันต้องอยู่กับ เชือก อยู่กับ หลัก ถึงจะสอนมันได้ นี่ท่านอุปมาถึงจิตใจเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มันฟุ้งไปมันไม่อยู่กับหลัก พอมันอยู่เราก็ดู พอเวลามันไปเราถึงจะรู้ จะรู้ก่อนไป จะระวังไว้ก่อนจะไม่ให้มันฟุ้ง ไม่ได้ มันยังไม่ฟุ้ง เราจะไประวังอะไรได้ วัตถุสิ่งนั้นยังไม่มีอยู่ เราจะไปรู้ก่อนล่วงหน้าเขาไม่ได้ คือ จะรู้ก็ต่อเมื่อมันฟุ้งไปแล้ว ฟุ้งนั้นมีแล้วเราถึงจะรู้ ถ้าเรารู้ว่าฟุ้ง ก็เพียงแต่รู้ว่า อ้อ นี่มันหลุดไปจากอารมณ์ หรือหลุดไปจากหนทาง หลุดไปจากมัชฌิมาปฏิปทาแล้วเท่านั้น แล้วเราก็กลับมารู้รูปนั่งใหม่ รูปนั่ง หรือ รูปยืน รูปเดินก็ตาม ไม่ใช่จะฟุ้งแต่รูปนั่ง กำลังเดินก็ฟุ้งได้ มันไวเหลือเกิน ระหว่างที่พอก้าวไป สติรู้ก้าวนี้ยังไม่ได้ ก็อีกก้าวเดียวเท่านั้นแหละไปแล้ว
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องคอยสังเกต ความสังเกตนี่ก็เป็นอุปการะอันหนึ่ง ที่จะให้เราทำถูกจุดหมาย ถ้าเราไม่สังเกต เราก็ไม่รู้ ฟุ้งไปตั้งแต่เมื่อไร ไม่รู้และไม่รู้ว่า มันฟุ้ง เพราะฟุ้งไปเสียตั้งนาน บางทีไปตั้ง ๑๐ นาที ๕ นาทีถึงจะรู้ กลับมามันก็เสียเวลาไปเปล่า โอกาสที่จะดูรูปนั่งก็น้อยมาก ก็จะไม่เห็นความจริงของรูปนั่ง
ถ้าจะถามว่า ทำไมดูฟุ้งไม่ได้หรือ เพราะฟุ้งก็เป็นนามเหมือนกัน แต่เวลา ฟุ้ง นั้นตัวฟุ้งนั้นเป็นนาม แต่ เรื่องที่ไปฟุ้งนั้นเป็นบัญญัติ เท่านั้น เป็นเรื่องเป็นราวอะไรต่ออะไร อดีตบ้าง อนาคตบ้าง มันก็เป็นบัญญัติอารมณ์นั้นไม่ใช่สภาวะ ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญาได้ ทีนี้ถ้าเราคอยสังเกตอย่างนี้ก็ไม่ไปนานไม่เสียเวลา พอรู้ว่า ฟุ้งแล้วก็กลับมา กลับมาดู รูปนั่ง ใหม่ ถ้าเดินอยู่ก็กลับมาดู รูปเดิน ใหม่ ถ้านอนก็กลับมาดู รูปนอน ใหม่ ยืนก็เหมือนกัน แล้วแต่ว่า ฟุ้งไปจากรูปไหนก็กลับมาดูใหม่จนกว่าจะได้ความจริง แล้วก็ไม่ต้องไปว่ามันฟุ้งนัก รำคาญจริง จะดูอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่พอใจฟุ้ง พอไม่พอใจฟุ้ง บางคนก็ไปกำหนดฟุ้ง กำหนดทำไม กำหนดเพื่อจะให้มันหายๆ ไป
ถ้าทำความเข้าใจอย่างนี้ ทำความรู้สึกอย่างนี้ละก็ผิด เพราะว่าเวลาที่ฟุ้งเกิดขึ้นนั้น เราก็ไม่พอใจ ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกับฟุ้งก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ซึ่งจะบังไม่ให้ปัญญาเกิดได้ จิตดวงไหนกิเลสเกิดอยู่ ปัญญาก็ไม่เกิด ทีนี้พอฟุ้งหายไปแล้ว กิเลสอะไรจะเข้า ก็ความพอใจ ก็เป็นกิเลสอีก กิเลสทั้งสองอย่างเลย ถ้าไม่หายโทมนัสเข้า ถ้าหายแล้วโสมนัสเข้า อภิชฌาเข้า โทมนัส ก็คือ ไม่พอใจ อภิชฌา ก็คือ พอใจ ทีนี้ตามธรรมดาการปฏิบัติที่ถูกของสติปัฎฐาน ต้องทำลายความพอใจและไม่พอใจ แต่เราไม่เข้าใจ การปฏิบัติของเรา ก็เลยไปเป็นปัจจัยแก่ความพอใจ และไม่พอใจ เลยเป็นที่อาศัยของโลภะ โทสะกิเลสไป นี่อันนี้ก็เป็นความสำคัญอันหนึ่งที่เราจะต้องสังเกต
เพราะฉะนั้น เรื่องของวิปัสสนานี้ เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความเพียรที่เพียรแต่จะไปเอาอะไร ถ้าเพียรไม่ถูกก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่า วิปัสสนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมาธิที่สงบมากๆ ถ้าสงบมากๆ ก็นิ่งไปเท่านั้นเอง ไม่มีเหตุผลอะไร ไม่มีการพิจารณาเหตุผล ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจแล้ว จะเพียรมากหรือเพียรน้อย ก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญาเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจจะเพียรเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจ ตัวอย่าง เช่น ฟุ้ง คือ อุทธัจจะนี้เป็นต้น ถ้าเราไม่เข้าใจ อุทธัจจะก็เกิดขึ้นเป็นปัจจัยทั้งความพอใจ และไม่พอใจ ที่จริงเราก็ไม่ได้อยากให้มันเกิด ไม่อยากให้มันเกิดเลย แต่มันก็เกิดตามอำนาจของเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราจะพอใจหรือไม่พอใจก็เกิด ถ้าเขามีเหตุ มีปัจจัยพอที่จะต้องเกิดขึ้นก็เกิดเหมือนกัน ถ้าเขามีเหตุมีปัจจัยไม่พอที่จะให้เกิดขึ้น ก็ไม่เกิดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เราก็ใช้ความสังเกต คือ เราเข้าใจแล้วว่า เวลานั่งนี่ให้ดูรูปนั่ง ทีนี้เวลามันหลุดไป ถ้าเรามีความสังเกตว่องไวดี เราก็รู้ว่า อ้อ ฟุ้งไป เพียงรู้ว่า ฟุ้งไปเท่านั้น กลับมาดูรูปนั่งใหม่ ทีนี้ความพอใจและไม่พอใจที่จะอาศัยความฟุ้งเกิดขึ้นก็ไม่มี เมื่อความพอใจ ไม่พอใจไม่เกิดแล้วจิตที่เรามากำหนดพิจารณารูปนั่งนี่ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิด ปัญญา เข้าไปรู้ความจริง จิตที่มันไม่เกิดปัญญา ก็เพราะเหตุว่า กิเลส มันคอยแทรกเข้าไปอยู่ พอกิเลสเข้าไปก็ปิดบังปัญญาเหมือนกับคนสายตาไม่ดี สายตาไม่ดีมองอะไรมันก็ไม่เห็น ถ้าคนสายตาดี ๆมองอะไรก็เห็น แต่ว่ามันเป็นธรรมชาติเรามองไม่เห็นก็ต้องเอาแว่นมาช่วย เหมือนกับปัญญาเหมือนกัน ปัญญาจักขุ จักษุ คือ ปัญญา ที่จะทำให้และเห็นอะไรต่ออะไร เอาแว่น คือ ปัญญามาส่องก็เห็นชัด ถึงแม้จะตัวเล็ก คือ ความสุขุมก็เห็นได้ ถ้าตาเปล่า คือ ไม่มีปัญญาแล้วไม่อาจจะเห็นได้
28 พฤศจิกายน 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น