ทุกอย่างย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญาทั้งนั้นในโลกนี้ ถ้าคนมีปัญญา แม้แต่เห็นผีที่ตายแล้วเน่าน้ำเหลืองไหล ย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญา ปัญญาย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง แต่ว่า เราจะเข้าใจโยนิโส ทำความรู้สึกให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญา หรือ ทำความรู้สึกให้เป็นปัจจัยแก่กิเลส มันมี ๒ อย่าง ความรู้สึกที่เป็นปัจจัยแก่กิเลส เช่น เราไปเห็นผีตายเน่า หมาเน่าลอยมา หรือ ศพลอยมาในน้ำ ถ้าเราทำความรู้สึกไปในทางเป็นปัจจัยของกิเลส กิเลสมันก็เกิดขึ้น เราก็ไม่พอใจที่จะเห็นอย่างนั้น เราก็เกลียด เราก็ไม่พอใจ
ทีนี้ถ้าคนมีปัญญา พอเข้าไปเห็นเข้าแล้วแทนที่เขาจะเกิดกิเลส คือ ความไม่พอใจ หรือสะอิดสะเอียนอะไรอย่างนี้ ไม่เป็นเพราะเขามีโยนิโสดี เขาก็ทำความเข้าใจให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญาเขาก็รู้สึกว่า อ๋อ นี่สังขารทั้งหลาย มันไม่เที่ยงอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ มันไม่ใช่เป็นของสวยงามเลยอย่างนี้ มันไม่เป็นอารมณ์ที่น่ายินดีเลย ไม่น่ารักเลย แต่ว่า เพราะความไม่รู้ ความไม่เข้าใจก็หลงกันไป
ทีนี้เขาเห็นแล้วเขาก็น้อมถึงจิตใจร่างกายของเขา ก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ทีนี้ความพอใจ ความรักในร่างกายที่เข้าใจว่าดี เข้าใจว่าสวยว่างามด้วยอำนาจของกิเลสก็หมดไป ปัญญาที่เข้าไปรู้ความจริงนั้นก็เกิดขึ้น อ้อ นี่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่าง ทุกอย่างในร่างกายจะหาสาระอะไรที่เป็นที่พึ่ง ที่เป็นสรณะไม่มีเลย เขาก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้น เพราะฉะนั้น กิเลสหรือความที่หลงไหลเข้าใจผิดอยู่ในร่างกาย ในรูป ในนาม ก็หมดไป กลับเกิดปัญญาขึ้นในอารมณ์อันเดียวกัน ในที่เดียว ถ้าหากไม่มีโยนิโสก็จะเกิดปัญญาไม่ได้
เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เราปฏิบัติ จะมีอารมณ์อะไรก็ตาม ก็ต้องคอยสังเกตดู บางทีเรามีเหมือนกัน โยนิโสเราเข้าใจ แต่ขาดความสังเกตว่า อารมณ์นั้นเป็นอย่างไร ผิดไปด้วยเรื่องอะไรเกิดขึ้น อารมณ์นี้เป็นปัจจัยแก่กิเลส มันไม่ใช่เป็นปัจจัยของปัญญา แต่ว่า ก่อนที่จะได้เอาโยนิโสมาใช้นี้ก็จะต้องได้จากการฟังด้วย ฟังอธิบายแล้วก็เข้าใจเหตุผล เก็บความเข้าใจเหตุผลเอาไว้ในใจก่อน เวลาไปปฏิบัติก็อาศัยความสังเกตว่า เวลานั้นเราทำความรู้สึกอย่างไร ตรงกันไหมที่อาจารย์บอกว่า เวลานั้นต้องทำความรู้สึกอย่างนั้นๆ อย่าทำความรู้สึกอย่างนั้นๆ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในเวลาที่อธิบายให้ฟัง ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ว่าผิด แล้วจะเอาจิตมาตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ถูกก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า ที่ถูกนั้นจะต้องทำความรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ทำไม่ได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น โยนิโส เป็นสิ่งสำคัญมาก การฝึกการสังเกตก็สำคัญ ขั้นแรก จึงต้องมีความเข้าใจในเวลาที่อธิบายให้ฟังว่า เขาห้ามอะไร จำได้ไหม ถ้าเราเข้าใจถึงเหตุผลเราก็จำได้ เพราะว่า ความเข้าใจจะเป็นสิ่งที่ช่วยความจำของเรา เช่น เขาห้ามไม่ให้ทำกรรมฐาน เวลานั่งอย่ารู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน เวลาเดินก็อย่ารู้สึกว่า เดินเพื่อทำกรรมฐาน ทุกท่านเคยจับได้ไหมว่านั่งกรรมฐาน เวลามานั่งแล้วก็จะรู้สึกว่า นั่งกรรมฐานทุกที เพราะเราไม่ได้สังเกต ทีนี้ถ้าเราจำได้และเข้าใจแล้วว่า เขาสั่งไม่ให้ทำความรู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน พอรู้สึกว่า นั่งกรรมฐานเกิดขึ้น ก็รู้ทันทีว่า ผิดแล้ว อันนี้ผิดแล้ว เพราะเขาห้ามไม่ให้ทำความรู้สึกอย่างนั้น
การที่จะผิดหรือถูกนั้นอยู่ที่ตรงความรู้สึก เพราะว่าปัญญาก็อยู่ที่ใจ อวิชชา ความโง่ก็อยู่ที่ใจ สติ ก็อยู่ที่ใจ วิริยะ ก็อยู่ที่ใจด้วย เพราะฉะนั้น ใจ มีความรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอารมณ์ของใคร เป็นอารมณ์ของ ปัญญา หรือ อวิชชา เช่น ที่เขาห้ามไม่ให้รู้สึกว่า นั่งกรรมฐานนั้น เพราะอะไร เพราะว่า ถ้ารู้สึกว่า นั่งกรรมฐานแล้ว ในเวลาที่นั่งอยู่นั้นกิเลสจะต้องเข้าอาศัย คือว่า นั่งเพื่อจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง นั่งเพื่อธรรมะจะได้เกิดขึ้น เวลาเดินก็เดินกรรมฐาน เดินกรรมฐานก็เพื่อจะได้เห็นธรรม ถ้ารู้ว่าทำกรรมฐานแล้วจะต้องรู้สึกอย่างนี้ติดตามมา ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลส มันเป็นความต้องการที่จะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ความต้องการก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง มีชื่อมากมาย กิเลสตัวนี้ คือ เป็น "โลภะ" ก็เรียก หรือเป็น "ตัณหา" ก็เรียก เมื่อกิเลสความต้องการเข้าไปอยู่ในจิตใจเสียแล้ว จิตดวงนั้นก็มีกิเลส แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร จิตที่เป็นอกุศลอยู่ ปัญญาจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงห้ามไม่ให้นั่งกรรมฐาน ไม่ให้เดินกรรมฐาน
เมื่อห้ามไม่ให้นั่งกรรมฐาน ไม่ให้เดินกรรมฐานแล้วให้นั่งทำไม ? ให้เดินทำไม ? เช่น เดินอยู่แล้วเวลาจะนั่งห้ามไม่ให้รู้สึกว่า จะนั่งกรรมฐาน แล้วจะให้รู้สึกว่าอย่างไร ? ต้องรู้สึกอย่างนี้ ว่า พอปวดเมื่อยขึ้น ปวดขึ้นมา เมื่อยขึ้นมา แล้วความรู้สึกก็ว่า จะต้องเปลี่ยนไป เพราะทุกข์ปรากฏขึ้นมาแล้ว ทุกข์นี้เป็นตัวอริยสัจเป็นของจริง ทุกข์ปรากฏขึ้นมาก่อนเราก็จะต้องเปลี่ยนละ ทีนี้พอจะต้องเปลี่ยนเราจะมนสิการว่าอย่างไร จำได้ไหม ? ให้มนสิการว่าอย่างไร ? ให้ทำความรู้สึก ทำความเข้าใจว่าอย่างไร ? ในการที่จะต้องเปลี่ยน
ทุกข์นั้นรู้แล้วว่า มันเมื่อย แต่ถ้าเป็นคนไม่สังเกตก็จะรู้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะจิตมัวไปอื่น พอเมื่อยขึ้นมาก็พลิกไปเลย ความเมื่อยนี่ เราไม่ได้ต้องการเลย มีกิเลสของใครจะต้องการเมื่อยบ้าง ? ไม่มีเลย เขาเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัยของเขา ไม่ใช่ว่าคนมีกิเลสเท่านั้นจึงจะเมื่อย คนไม่มีกิเลสก็่เมื่อย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ท่านก็เมื่อย ท่านก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเหมือนกัน
ทุกข์นี่น่ะไม่ใช่กิเลส แต่เป็นวิบากของเบญจขันธ์ ที่จะต้องถูกบีบคั้นให้เกิดเปลี่ยนแปลง ให้กระสับกระส่ายอยู่เรื่อย เพราะท่านเห็นอย่างนี้ ท่านถึงได้เห็นว่า ตัวเบญจขันธ์นี้เป็นทุกข์เหลือเกิน เป็นภาระอันหนัก สังขิตเตน ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา ทุกข์ทั้งหมด ตั้งแต่ชาติความเกิดขึ้นมาจนกระทั่งชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส ตามที่เราทำวัตร นี่เพราะสังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขาทุกข์ทั้งหมดที่เรามีอยู่นี่มาจากเบญจขันธ์ ถ้าเบญจขันธ์นี้ไม่มีแล้ว ทุกข์ทั้งหมดนี่ไม่มี เป็นอันว่า ไปถึงธรรมที่สิ้นทุกข์
เพราะฉะนั้นท่านจึงใช้คำว่า สิ้นทุกข์ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงหรือ ที่สุดแห่งทุกข์ ทีนี้บางคนไม่เข้าใจก็ไปเข้าใจว่า คำว่า พ้นจากทุกข์หมายความว่า ต้องมี ความสุข ทุกข์ไม่มีแล้วต้องมีความสุข เพราะฉะนั้น ขออย่าเข้าใจว่า พระนิพพานเป็นสุข บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเวลาที่ปฏิบัติ พอจิตได้สมาธิเข้าพอสงบเข้าก็รู้สึกว่า เป็นสุขเยือกเย็นจริง นี่แหละจะต้องเป็นพระนิพพาน เพราะเราพ้นจากทุกข์แล้ว อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ก็เป็นเพียง สุขเวทนา เท่านั้น แล้วก็ไม่เที่ยงด้วย สิ่งใดที่ ไม่เที่ยง นั่นแหละสิ่งนั้นเป็น ทุกข์ และสิ่งที่ ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ นั่นแหละสิ่งนั้นเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้น ที่เราไปเห็นว่า มีความสุขจริง สบายจิตใจสงบเยือกเย็น นี่แหละคงจะเป็นพระนิพพาน อันนี้เข้าใจผิดแล้ว
เพราะอันที่จริง ความสุขนั้นเที่ยงไหม ? สุขอยู่อย่างนั้นตลอดไปหรือเปล่า เปล่า ไม่ตลอดเวลา หากแต่จิตมันไม่เพ่นพ่านไป คล้ายๆ กับว่ามันหลับ จิตน่ะมันหลับไป มันก็เลยไม่ฟุ้งซ่านไปที่ไหน ถ้ามันฟุ้งซ่านไปมากๆ เราก็รำคาญ พอกิเลสมันเกิดขึ้นแล้วก็เร่าร้อน จิตใจเศร้าหมองเร่าร้อน ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ไปฆ่าใคร ด่าใคร ตีใครก็ตาม พอกิเลสเกิดขึ้นแล้วใจนี่ไม่มีความเยือกเย็นเลย ถ้าเกิดมาก ก็ร้อนมาก เกิดน้อย ก็ร้อนน้อย แล้วความสุขที่เราเห็นว่า เป็นของดีมากนั้น จะเที่ยงอยู่ได้ไหม ไม่เที่ยง พักเดียว ประเดี๋ยวเดียวก็หายแล้ว
ทีนี้หากว่าคนที่ยังไม่เข้าถึงความไม่เที่ยงก็อาจเห็นไปได้ว่า อันนี้แหละ ต้องเป็นพระนิพพาน อันนี้แหละ คือ เป็นความสุขที่ได้มา อาจจะเข้าใจอย่างนี้ แต่ความจริง ถ้าคนที่เขาเห็นแล้วว่า สัพเพ สังขารา ทุกขา ความสุขอันนั้นก็เป็นสังขารเกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ต้องอาศัยเราทำสมาธิ เราปฏิบัติ ความสุขอันนั้นจึงเกิดขึ้น สัพเพ สังขารา ทุกขา สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วจากเหตุ จากปัจจัย สิ่งนั้นต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเรารู้แน่ รู้ตลอดไปหมดอย่างนี้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับ ถ้าเข้าไปรู้จนถึงอย่างนี้แน่แล้ว เหตุไรเขาจะมานิยมชมชื่นในสิ่งที่ไม่เที่ยง ในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เขารู้อยู่แล้วเขาจะไปนิยมอะไรว่า สิ่งนี้ดีจริง รูปร่างมันสวย แต่ว่าใช้ไม่ทน ประเดี๋ยวก็แตก เราจะชอบไหม ? สักหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะใช้ทนดี
เหมือนดังท่านปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้าให้ดูรูปก็เห็นว่า รูปไม่เที่ยง ท่านให้ดูเวทนาก็เห็นว่าเวทนาไม่เที่ยง ให้ดูสัญญาก็เห็นว่า สัญญาไม่เที่ยงท่านก็ชี้ให้ดู ท่านเข้าใจภาษากัน ท่านกู้รู้ว่า ดูรูป นั้นดูอะไร ดู เวทนา นั้นดูอะไร ดู สัญญา นั้นดูอะไร เมื่อให้ดู สังขารขันธ์ ท่านก็ดู ท่านกู้รู้ว่า สังขารขันธ์นั้นลักษณะอย่างไร มีอาการปรากฏขึ้นในจิตใจอย่างไรท่านก็รู้ท่านก็ดู ท่านก็เห็นว่า ไม่เที่ยงให้ดูวิญญาณ วิญญาณขันธ์ท่านก็รู้ว่า ให้ดูอะไรท่านก็ดูในอดีต ท่านมีปัญญาบารมีมา ท่านมีตัวกิเลสที่จะมาบังน้อยแล้วไม่ใช่หนาเหมือนปุถุชน คำว่า ปุถุชน แปลว่า กิเลสหนามากเหมือนแผ่นดิน เพราะว่า กิเลสหนาเหมือนแผ่นดิน จึงเรียกว่า ปุถุชน ถ้าคนกิเลสมากแล้วไปบวชอยู่อย่างนั้นไม่ได้
ทีนี้พอท่านพระปัญจวัคคีย์ พยายามดูครบหมดแล้วทั้ง ๕ ขันธ์ หมดแล้วในโลกนี้ก็มีแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น ท่านก็ประกาศขึ้นมาว่า "ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมัง" แปลความว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดาทีเดียว เห็นอย่างนี้ ก็ย่อมจะเกิดความหน่ายไม่ยินดีในอัตภาพ แม้ว่า ความรักตัวจะมากที่สุดก็ตาม ใครจะรักมากเท่ารักตัวเราเป็นไม่มี เพราะว่าเรารักตัวเรา แล้วเราก็รักไปถึงคนอื่นที่มาเป็นประโยชน์แก่ตัวเรา เป็นอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ให้ตัวเรามีความสุข
เมื่อเรารักใคร เราก็จะบำรุงคนนั้นให้มีความสุข ไม่อยากให้เขาเดือดร้อน ทีนี้ตัวของเรานี่เรารักมากที่สุด ทุกอย่างที่เอามาบำรุงบำเรอ เพื่อจะให้ร่างกายนี่มีความสุข อารมณ์อะไรที่จะมาเป็นประโยชน์ให้เรามีความสุข เราก็รักอารมณ์นั้นด้วย ทีนี้เมื่อแลเห็นแล้วว่า ตัวนี่ไม่มีของดี ชิวิตเป็นไป หรือเบญจขันธ์เป็นไปเพื่อความทุกข์ ต้องมีการปรุงแต่งแก้ไขธรรมดาเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ต้องดับ ต้องฉิบหายไปเป็นธรรมดา เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว จะไปยินดีอะไร ความที่รักมั่นอยู่เป็นอุปาทานยึดมั่นอยู่ว่า เป็นตัวเรา เป็นของเราก็คลายออกอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ถึงจะคลายออกได้
เพราะฉะนั้น ถ้าสมาธิแล้วไม่สามารถจะเห็นว่า มันไม่เที่ยงได้ ทำไมจึงไม่เห็นเพราะว่า ตามธรรมดา ถ้าจิตจ่ายไปในอารมณ์ที่หยาบๆ มันเปลี่ยนไปช้าๆ ก็อาจจะเห็นได้ ท่านกล่าวว่า ถ้าสันตตินี้สืบเนื่องอยู่อย่างไม่ขาด สัตว์ทั้งหลายก็ยังไม่สามารถเห็นอนิจจังได้ ทีนี้ก็เวลาที่จิตอยู่ในสมาธิ อยู่ในอารมณ์เดียว เกิดดับเร็วที่สุดอยู่ในอารมณ์นั้น จนไม่สามารถจะเห็นว่า อารมณ์นั้นมันไม่เที่ยงเหมือนพัดลมนี้ ถ้าหมุนเร็วๆ ก็จะไม่เห็น ไม่รู้ว่าใบพัดลมมีกี่อัน และรูปร่างเป็นอย่างไรก็ไม่เห็นเลย ถ้าหมุนช้าก็เห็นได้ว่า มี ๓ อัน เพราะว่า จังหวะที่ขาดว่างของมัน จะมาตัดให้เห็นได้ว่า เป็นคนละอัน หรือลูกข่างที่หมุนนอนวัน เวลาหมุนนอนวันแล้ว มันหมุนเร็วเหลือเกิน เราก็ไม่เห็นมันได้ เพราะมันนิ่งอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นสมาธิจึงรู้ยากมาก คือ จะไปเห็นจิตที่เป็นสมาธิว่ามันเกิดแล้วมันดับ ไปนี่ ไม่มีหวังเลย ต้องเป็นคนที่มีปัญญาเฉียบแหลมสามารถได้ "ฌาน" และสามารถจะทำ "วสี" ในฌาน ให้คล่องแคล่วก็อาจจะยกองค์ฌานขึ้นเพ่ง เขาก็ไม่ได้เอาจิตขึ้นเพ่ง เขาเององค์ฌานขึ้นมาเพ่ง อย่างนี้ก็อาจสามารถที่จะเห็นได้
อย่างของเรานี่ เพียงแต่ทำสมาธิให้จิตเข้าถึงฌานก็ยังทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เวลามีสมาธิเข้าก็ไม่รู้ว่าอะไรก็ดูจิตไปเฉย จิตจะเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็ไม่มีรู้หรอก
เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า ถ้าสมาธิเข้ามากแล้ว ก็จะปิดความจริงอันเป็นอารมณ์ของปัญญา จะต้องให้ สมาธิเป็นไปร่วมกับอารมณ์ของปัญญา ที่ได้ปัจจุบัน ในที่นั้น มีศีล มีสมาธิ และปัญญาก็มีในที่เดียวกันจึงจะเกิดได้
ถ้าไปทำสมาธิเสียก่อน ก็จะนิ่งไปใช้ไม่ได้ ทีนี้พอจะยกขึ้นสู่ปัญญา นั่งประเดี๋ยวเดียวความนิ่งก็เข้า พอลุกขึ้นเดิน เดินไปหน่อยสมาธิก็เข้า เดินเรื่อยไม่เหน็ด ไม่เหนื่อย เวลาเดินใจก็นิ่ง ไม่ออกมาดูให้รู้ว่ารูปอะไร เวลานั้นก็ไม่รู้สึก ไม่มีรูป ไม่มีนาม นิ่งก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา เพราะฉะนั้น จะต้องใช้ความสังเกตมากที่สุดเลย ใช้ความสังเกตมากแล้ว ก็ระวังความรู้สึกอย่าให้มันตกไปในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแก่กิเลส ถ้าเราตกไปในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแก่กิเลสแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เป็นโอกาสของกิเลส เกิดขึ้น คือ เป็นโอกาสของกิเลสเกิดขึ้น คือ เป็นโอกาสของอกุศลเกิด แต่กุศลไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น
เพราะอย่างนี้ จึงได้บอกว่า ต้องระวัง ขอให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน แล้ว ความรู้สึกว่า เป็นรูป กับเป็นนาม ต้องมีอยู่เสมอ ถ้าจะรู้ไปนิ่งๆ อย่างนั้น แต่ว่าตัวดูอะไรเวลานั้นรู้ไหมว่า ดูรูปอะไร หรือดูนามอะไรไม่รู้ รู้แต่นิ่ง มันนิ่งไปเฉยๆ อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เพราะอารมณ์นี้เป็นสมาธิ ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของปัญญา แล้วก็ไม่มี นาม ไม่มี รูป นิ่งเฉยๆ ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป ขอให้สังเกตต้องคอยดูว่า อ้อ...อันนี้ไม่ใช่ ความรู้สึกอย่างนี้ไม่ใช่ ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ถ้าใช่แล้วจะต้องมีความรู้สึกอย่างนั้นทีเดียว จะต้องรู้สึกว่า เวลานี้ตัวกำลังทำอะไรอยู่ ตัวดูอะไรอยู่ ต้องรู้สึกอย่างนั้น ถ้าไม่รู้สึก ดูเฉยๆ สติสัมปชัญญะไม่มีกำลัง
พออารมณ์อะไรผ่านมานิดเดียว แพล็บเดียวจะตกใจ คล้ายๆ กับใจหายวาบไปเลย พอใจหายไปแล้วก็กลัว กลัวสิ่งที่หายไปนั่นแหละ กลัวเสียแล้ว พอว่าได้ยินเสียงอะไรแก๊กก็ยังไม่ทันรู้ว่า อะไรยังไม่รู้หรอก แต่พอเสียงมาปุ๊ป จิตมันก็ทิ้งอารมณ์นี้ไปแล้ว รู้สึกตกใจหายวาบไป แต่ก็ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วที่นี้ใจกลับเข้ามา พอความรู้สึกกลับเข้ามาใจก็เต้น ใจเต้นเพราะความกลัว แต่ยังไม่รู้ว่ากลัวอะไร อันนี้ใช้ไม่ได้ คือว่า ถ้าไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรละก็ใช้ไม่ได้ เหมือนกับผู้ที่เป็นนักสืบ
ปัญญาน่ะเหมือนนักสืบ เพื่อทำจารกรรม เข้าไปในที่ไหนก็เพื่อจะไปสืบเหตุผลว่า นี่เขาทำอะไรกัน ไปเป็นสมาคมอะไร ส่งเข้าไปเป็นจารบุรุษ ต้องไม่ให้เขารู้เลยว่า เราเป็นจารบุรุษ มิฉะนั้นสืบไม่ได้เรื่อง ต้องรู้จัก ต้องแยบคาย ต้องมีอุบายต่างๆ แต่ว่า อุบายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เทศนาไว้ สั่งสอนไว้แล้ว ก็จดจารึกไว้ในพระไตรปิฏก เพราะฉะนั้น บางทีมันยาก จนกระทั่งถึงว่าไม่เข้าใจ สอนไว้แล้ว จดแล้ว บันทึกไว้แล้วอยู่ในสมุด เราเอาสมุดนั้นมาอ่านก็ยังไม่รู้ว่าท่านสอนอะไร อย่างนี้ก็มี เราไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร อ่านแล้วก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วไปทำตามก็ไม่ถูก ยากมากไม่ใช่ของง่ายๆ ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นของสาธารณะไม่ใช่เป็นสาธารณะที่ทุกคนจะทำได้ มันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ขึ้นมา ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้ว ปัญญาบารมีไม่ถึงขนาดที่จะเป็นสัมมาสัมพุทโธ แล้วจะรู้เองไม่ได้เลย ยากถึงขนาดนั้น ยากมากทีเดียว
เราจะต้องมีความสังเกต ถ้าหากว่ามันเบา รู้สึกว่า ตัวเบา และความรู้สึกก็ไม่ค่อยจะชัด คือ เลือนๆไปอะไรอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ดีนะ ตามหลัก ถ้าสมาธิเข้ามาแล้วความรู้สึกตัวจะไม่ชัดเลือนๆ เพราะฉะนั้น อันนี้ต้องอาศัยความสังเกต ถ้าขาดความสังเกตแล้ว ผิดก็ไม่รู้ ต้องสังเกตนับตั้งแต่ทีแรกที่ลงมือกำหนด ท่านเคยสังเกตไหมเมื่อแรกที่ลงมือกำหนด นั่งก็ดี เดินก็ดี นอน หรือยืนก็ตาม เวลาที่กำหนดครั้งแรกลงไปจะชัดเจน เพราะว่า ยังไม่มีสมาธิหรืออะไรๆ เข้ามา ท่านจะต้อง สังเกตความรู้สึกที่ชัดเจน อันนี้เอาไว้เป็นหลัก เอาไว้เป็นครู จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม ความรู้สึกที่กำหนดลงไปครั้งแรกจะชัด ถ้าพูดถึงว่า กำหนดถูก ท่านก็จะต้องจำไว้ จำท่าทาง จำลักษณะไว้ พอกำหนดไปสักประเดี๋ยวความรู้สึกจะเปลี่ยน คือว่า ความรู้สึกจะอ่อนลงไปหรือว่า เมื่อสมาธิเข้ามา ความรู้สึกจะอ่อนไป นี่พูดถึงว่า ไม่ฟุ้ง ถ้าฟุ้งก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ความรู้สึกจะอ่อนลงไป เวลานั่งน่ะ ท่านกำหนดอะไร ?
น. - เวลานั่ง อาตมากำหนดนั่งพับเพียบ
อ. - นั่งอะไรก็ได้ร้อยแปด ท่านนั่งก็อยู่ในหลายท่าเหมือนกัน เวลานั่ง ท่านกำหนดอะไร ?
น. - กำหนดรูปนั่ง กำหนดรูปที่เรานั่งนั้นทำอย่างไร ? ลักษณะอย่างไร
อ. - คือว่า สำคัญที่ความรู้สึก เวลานั่งนั้นท่านมีความรู้สึกอย่างไร ท่านทำความรู้สึกอย่างไร ?
น. - รู้สึกว่า ศีรษะนี่ที่ตั้งอยู่บนบ่า นี่แขน นี่ขา เป็นท่านั่งพับเพียบ
อ. - ท่านไม่ต้องไปรู้สึกอย่างนั้น ถ้าไปรู้สึกอย่างนั้นแล้วตกลงว่า รูปนั่งอยู่ตรงไหน ท่านก็ยังไม่เจอะรูปนั่ง ขอให้นึกถึงว่า เมื่อท่านยังไม่ได้เข้ากรรมฐาน เวลานั่ง ท่านก็ทราบ เดินก็ทราบ โดยปกติธรรมดานี่เอง เวลานั่ง ท่านก็ไม่ต้องไปรู้ตรงบ่า ตรงแขน ตรงขาอะไรก็ไม่มี เช่น อย่างเวลานี้ท่านก็ทราบนั่งหรือนอน นั่งท่านก็ทราบตามปกตินี่เอง ทำไมท่านถึงทราบว่า นั่ง เพราะว่า ตั้งกายอยู่ในท่านี้ เรียกว่า นั่ง ทั้งตัวเลย เรารู้ที่ตรงท่าทางเท่านั้นแหละ
อย่าได้นึกว่า เวลาเข้ากรรมฐานแล้วก็ต้องรู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นปกติธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่ว่า จะต้องไปรู้ที่ตรงนั้น ตรงนี้ ตรงโน้น แล้วจึงจะเป็นท่านั่ง นั่งธรรมดานี่แหละ แล้วก็รู้อยู่ในท่าที่นั่งในสติปัฏฐานท่านบอกว่า ตั้งกายอยู่ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็ให้รู้อยู่ในอาการนั้นๆ ไม่ต้องไปรู้ตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงหัวไหล่ถึงขา ถ้าเช่นนั้นแล้วก็เลยตกลงไม่รู้ว่า รูปนั่งนั่นอยู่ที่ไหนเวลาที่ท่านดูที่ตรงนี้มันก็ไม่ใช่นั่ง มันรวมๆ กันทั้งหมด นั่งอยู่ในท่าไหนก็รู้อยู่ในท่านั้น ไม่ต้องไปรู้ตรงนั้น ตรงนี้ถ้าไปรู้ตรงนั้น ตรงนี้ก็จะไม่ถูกรูปนั่ง ทีนี้เวลากำหนดรูปนั่ง ท่านจะกำหนดที่ไหน ?
น. - ดูที่กิริยาท่าทาง
อ. - ท่านั่งน่ะ ไม่ต้องไปกำหนด ตรงแขน ตรงขา เวลายืนก็มีขานี่ นอนก็มีขา เดินก็มีขา กำหนดรูปนั่ง ท่านกำหนดที่ไหน ? ขอถามอีกที
น. - รู้สึกว่า นั่งตั้งกายไว้บนเก้าอี้
อ. - ไม่ต้องมีเก้าอี้ รู้รูปนั่งรู้ที่ไหน ? คือ รู้ในท่าที่นั่ง นี่เวลานี้ท่านก็นั่งแล้ว ไม่ต้องไปมีเก้าอี้ ถ้ามีเก้าอี้ก็จะไม่ได้ปัจจุบันอารมณ์ ที่ต้องการแน่ๆ จะไม่รู้ว่า นั่งอยู่ที่ไหน ต้องรู้อยู่ที่ท่าเวลานี้ท่านนั่ง ก็อยู่ที่ท่านั่งนั่นเอง คือ ท่านตั้งกายอยู่ในท่าไหน ท่านก็รู้อยู่ในท่านั้น รู้อยู่ในท่าที่นั่งไม่ใช่ไปรู้ตรงแขน ตรงขา รู้อย่างนั้นไม่ถูก เวลานั่งทำความรู้สึกดูรูปนั่ง คือ รู้สึกอยู่ในท่านั่ง ท่านยืนก็รู้สึกอยู่ในท่ายืน นอนก็รู้สึกอยู่ในท่านอน เวลาเดินก็รู้สึกอยู่ในรูปเดิน เวลาที่เท้าก้าวไปๆ รูปเดินก็ไม่ใช่อยู่ที่เท้า เพราะเวลานี้ ท่านก็มีเท้า แต่เดินมีไหม เท้ามี แต่เดินไม่มี ยืนก็มีเท้า แต่เดินไม่มี เพราะยังไม่ได้ก้าวไป เพราะฉะนั้นรูปเดินเราก็ดูในขณะที่ยกเท้าก้าวไป ข้างไหนก้าวไปก็รู้ข้างนั้น รู้รูปก้าวข้างนั้นๆ ไม่ต้องมีซ้ายไม่ต้องมีขวา เพราะซ้ายขวานี้เป็นบัญญัติ อาการที่แท้จริงก็คือ อาการที่ก้าวไปเท่านั้นแหละ ข้างไหนก้าวไปก็รู้ข้างนั้น
ในการดูก็ดูด้วยความรู้สึก ไม่ใช่นึก นึกกับรู้สึกต่างกันอย่างไร ? เวลาดูรูปนั่งก็นึกว่า รูป นั่ง รูปนั่ง รูปนั่ง ท่านต้องสังเกตว่า นึกหรือรู้สึก ต้องใช้ความรู้สึกถ้านึกเอาแล้วมันไม่ได้อารมณ์ปัจจุบัน ถ้ารู้สึกถึงจะได้ อารมณ์ปัจจุบัน เวลานี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่
น. - เวลานี้กำลังนั่ง
อ. - ไม่ใช่ค่ะ นั่งไม่ใช่เป็นอธิบดีแล้ว เวลานี้ท่านนั่งเพื่ออะไร ? กำลังฟังอยู่ใช่ไหม ? นั่งฟังโยมแล้วต้องนึกหรือเปล่าว่า ฟังโยม ฟังโยม ฟังโยม ท่านก็ไม่ต้องนึก ท่านกำลังฟังโยมอยู่ ก็ต้องฟังว่า โยมจะพูดว่าอย่างไร ถ้ามันไปมัวนึกเสีย ท่านก็ฟังไม่รู้เรื่อง หรืออีกนัยหนึ่ง เวลาเอามือจับของร้อน ท่านก็รู้สึกว่า ร้อน ท่านก็ไม่ต้องนึกอะไร ความรู้สึกนั้น จะต้องมีอารมณ์ปรากฎเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันนี้สำคัญมากในการทำวิปัสสนา ท่านรู้สึกว่า ร้อนก็ไม่ต้องนึกอะไร ร้อนเอง ทีนี้เอามือออกแล้วก็นึกถึงร้อน ท่านจะร้อนไหม ท่านก็ไม่ร้อน อันนี้ท่านจะต้องใช้ความสังเกตให้มากสักหน่อย เพราะว่าเรายังไม่คล่อง
เพราะฉะนั้น เวลานั่งใจก็รู้สึกตัวอยู่ว่า ดูรูปนั่ง แล้วก็คอยสังเกตพอเวลาดูไป ดูไป ดูไป ถ้าไม่ฟุ้งประเดี๋ยวก็สมาธิเข้ามาแล้ว รูปก็จะหลุดไป เหลือแต่ นั่ง รูปมันจะหลุดไปก่อน อย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่ารู้แต่ นั่ง อย่างเดียว ใครนั่ง ถึงแม้ว่า จะไม่รู้ว่า เรานั่ง แต่ว่า เรานั่ง ที่มันเคยฝังสันดาน ทีนี้ เมื่อรูปมันหลุด ความรู้สึกว่า เรานั่งมันไม่ออก เพราะความรู้สึกใหม่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นแต่เพียงว่า เราพิจารณาอยู่ แต่ว่า ความรู้สึกว่า เป็นรูปแท้ๆ ยังไม่เกิดขึ้น ต้องเกิดขึ้นแล้ว เราจึงจะหลุดออกไปได้ ต้องเป็นรูปอย่างชัดเจน แต่ว่าเวลานี้เรากำลังพยายามกำหนดรูปอยู่ ทำไมจึงต้องกำหนดรูปด้วย เวลานี้ท่านก็รู้ว่า นั่งมันเป็น รูป แต่เวลานั่งจริงๆ ไม่รู้ว่า มันเป็นรูป มันก็จะเป็น "เรานั่ง" ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ท่านต้องพยายามกำหนด จนกระทั่งรู้สึกว่าเป็น "รูปนั่ง" จริงๆ อย่างนี้แหละ เรานั่ง มันจึงจะเข้ามาไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าเป็น "รูป" แล้ว เมื่อเรารู้แน่ชัดแล้วว่า คนนี้ไม่ใช่คน แต่เป็นรูป พอมาเห็นเข้าอีกทีจะไปรู้สึกว่าเป็นคนอีกไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราจะทิ้งไม่ได้เลย รูป กับ นาม เพราะว่า มันเป็นตัวกรรมฐาน เป็นตัวถูกพิจารณาให้รู้แน่ว่ามันมีรูปกับนามจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาดูนั้น ดูรูป หรือนาม ดูเฉยๆ ไม่ได้ เวลาดูนั้นดูรูปนั่งหรือรูปนอนดูรูปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะเป็นรูปคนละรูปไม่เหมือนกัน คือ รูปนั่งหรือรูปนอน เพราะถ้ากำหนดเป็นรูปอย่างเดียวกัน ประเดี๋ยวนั่งก็รูปนั้น นอนก็รูปนั้น ยืนก็รูปนั้น เดินก็รูปนั้น รูปจะเกิดเป็นอันเดียวกันขึ้น ทีนี้รูปก็เลย เที่ยง อีก เพราะว่ารูปนั่งก็เปลี่ยนมาเป็นรูปเดินเท่านั้นเอง ตกลงนั่ง กับ เดินก็เป็นอันเดียวกัน รูปก็เลยเที่ยงขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะ รู้สึกรูปเฉยๆ ไม่ได้ จะต้องดู รูปนั่ง หรือ รูปนอน ไม่ใช่ ดูรูปเฉยๆ นั่งเฉยๆ ก็ไม่ได้ เดี๋ยวเราก็เข้ามากลายเป็น เรานั่ง เราจึงทิ้งไม่ได้เลยว่า ดูรูปอะไร ท่านจะต้องมีอยู่ในความรู้สึกเสมอ จนกระทั่งจำท่า จำทาง จำอะไรต่ออะไรได้ จำหน้า จำตาได้ดีแล้ว
พอกำหนดปุ๊บลงไปเกือบไม่ต้องกำหนดก็รู้ พอดูปั๊บมันก็รู้ขึ้นมา เราก็จะต้องหัดดูจนให้ชำนาญ ทีหลังเมื่อวิปัสสนาเกิดแล้ว มันมีความรู้สึกคนละอย่างท่านก็จะทราบเองว่า ท่านจะเห็นแล้วหรือยัง ? ทั้งๆ ที่ท่านกำหนดรูปน่ะ ท่านเห็นรูปแล้วหรือยัง ต่อเมื่อท่านเห็นรูปท่านก็จะรู้สึกเองว่า ท่านเห็น พอรู้แล้ว บอกเองรู้เอง ไม่ต้องมีใครบอกให้ทราบ
เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือว่าดูรูปอะไรหรือว่าดูนามอะไร ? รูปเฉยๆ นามเฉยๆ ไม่ได้ นั่งเฉยๆ นอนเฉยๆ ก็ไม่ได้ จะต้องดูรูปกับนั่งดูรูปนั่ง เหมือนกับอย่างนี้เวลานี้ดูอะไร ดูกาน้ำ ถึงจะไม่นึกว่า กาน้ำ แต่ว่าความรู้สึกว่า เป็นกาน้ำ มันก็อยู่ในใจอยู่แล้วว่า ดูอะไร แต่ว่า ใหม่ๆ อาจจะต้องนึกเพราะว่า จำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาดูจึงสำคัญมาก แล้วก็ต้องได้ปัจจุบัน ขาดปัจจุบันแล้ว วิปัสสนาไม่มีโอกาสเกิด เหมือนกับอย่างนี้ ดิฉันเอามือแตะถ้วยน้ำร้อน ร้อนนี่เป็นรูป รูปร้อนเราก็รู้ ไม่ใช่ เราร้อนนะ เมื่อเรารู้สึกว่า รูปร้อน ความรู้สึกว่า เราร้อน ก็ไม่มี เกิดไม่ได้
ทีนี้ร้อนก็ไม่เที่ยง สมมุติว่าอย่างนั้น ร้อนไม่เที่ยงท่านก็จะเห็นว่า รูปทุกอย่างก็ต้องไม่เที่ยง นี่มีร้อนเป็นอารมณ์ และอารมณ์นี้ไม่เที่ยง ต้องไม่เที่ยงเวลาร้อน ความจริงที่ไม่เที่ยงนั้นมันไม่เที่ยงเวลาร้อน ร้อนนี่น่ะ ไม่เที่ยง แต่ว่าเราไม่เห็น แต่พอเราออกไปแล้ว เราก็ไปนึกอีกทีว่า มันไม่เที่ยง คือ มันหายร้อนแล้ว อันนี้ก็ขั้นหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงวิปัสสนาจริงๆ แล้วไม่ได้ เห็นอะไรไม่เที่ยง ต้องไม่เที่ยงกำลังมีอยู่ ไม่ใช่ว่า รูปทั้งหมดไปแล้วจึงจะรู้ว่าไม่เที่ยง ถ้าปัจจุบันแท้ๆ จะเห็นว่า รูปไหนไม่เที่ยง ต้องรูปนั้นกำลังยังอยู่ กำลังบอกให้รู้ถึงอาการไม่เที่ยง อันนี้ ก็ต้องเป็นขั้นที่สติเราดีแล้ว พอเห็นเข้าก็จะทราบเองนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น ขณะดูรูปนั่ง บางคนก็ดูเรื่อยไป ตั้งแต่ตรงนั้นๆ เรื่อยไปก็ไม่รู้ว่า รูปนั่งอยู่ที่ไหน ปัจจุบันก็ไม่มีจะไปเอาตรงไหนที่เป็นรูปนั่ง เราจะเห็นว่าไม่เที่ยง ก็ต้องไม่เที่ยงทั้งหมด จะเห็นตรงนั้นตรงนี้ไม่เที่ยงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาดูท่านก็จะต้องสังเกตแล้วก็จำ เมื่อเวลาไปทำงานว่าตรงกันไหมกับที่ได้ยินมา เช่น เวลาพอกำหนดลงไป ต้องสังเกตทีเดียวว่า ตรงไหม ดูรู้ว่า นั่ง นั่งเฉยๆ รูปไม่มี นี่ท่านก็ต้องรู้ ถ้าสังเกตก็รู้ว่าขาดรูปไป ก็เติมรูปลงไป ต้องคอยสังเกตเสมอ เราต้องคอยสังเกตของเราเองคนอื่นจะไปช่วยดูให้ก็ไม่ได้
แต่ว่าก่อนอื่นที่เรียนให้ทราบนี้ ท่านก็ต้องเข้าใจก่อน เข้าใจแล้วว่า เวลานั้น เขาให้เรารู้อย่างนั้น ทำความรู้สึกอย่างนั้น ทีนี้เมื่อเวลาไปทำงาน ก็ต้องคอยสังเกตว่า ตรงกันไหม ถ้าขาดความสังเกตไม่ได้เลย เพราะคนที่ไม่ชำนาญ ถ้าไม่สังเกตจะทำไม่ถูก ต้องคอยสังเกต ถ้าสังเกตแล้วผิดก็รู้ ถูกก็รู้ พอผิดเราก็ทำความรู้สึกให้ถูก เพราะว่า เราเคยได้ฟังอธิบายมาแล้ว เพราะว่า เราไม่ชำนาญ บางทีมันก็หลุดไปบ้าง อะไรไปบ้าง บางทีดูรูปเดิน ประเดี๋ยว รูป มันก็หมดไปแล้ว เหลือแต่เดิน เดิน เดิน อย่างนี้เราก็ต้องคอยสังเกต มิฉะนั้น เสียเวลา เพราะว่า วิปัสสนาเป็นงานของใจ เวลากำหนดลงไป รู้อารมณ์เมื่อไร นั่นแหละ เป็นงานของใจ
ทีนี้รู้อารมณ์ถูกไหม ไม่ถูกไม่ได้ เหมือนกับเราตัดไม้สักท่อนหนึ่ง จะเอาไปใส่ที่ตรงไหน เราก็จะต้องกะไว้แล้วว่า จะต้องตัดยาวเท่านั้น จะตัดตรงหรือตัดเฉียง เมื่อเราจะตัดไม้ เราก็ต้องตัดตามที่เราเข้าใจกว้างแค่ไหน ยาวแค่ไหน ก็ใส่ได้พอดี แต่ถ้าวัดมาแล้ว เวลาตัดเราไม่ได้ดูอีกทีหนึ่ง บางทีก็ใช้ไม่ได้เลย การทำวิปัสสนาก็เหมือนกัน วิปัสสนานี่ ท่านเรียกว่า ปัญญาสิกขา สิกขา แปลว่า ศึกษา ศึกษาการงานของปัญญา ศึกษานี้อยู่ที่ไหน ศึกษาอยู่ที่การสังเกต นี่แหละเราเรียกว่า ศึกษา คือ การสังเกต คอยดูว่า ผิดหรือถูกอะไรต่ออะไร
ถ้าขาดความสังเกตไม่มีการศึกษา จะสังเกตได้ต้องเข้าใจก่อน เข้าใจว่า ที่ถูกนั้นเป็นอย่างนั้นๆ ทีนี้เวลาทำงานก็สังเกตว่า ตรงกันไหมกับที่เราเข้าใจ บางทีก็เดิน เดิน เดินไปมีแต่เดิน รูปไม่มี อย่างนี้ไม่ได้ พอรู้ว่า รูป ไม่มีก็กลับทำความรู้สึกเสียใหม่ บางที เดินไม่กี่ก้าว รูป ก็หลุดไปแล้วเหลือแต่ เดิน บางที เดิน ก็ไม่มีเหลือแต่อาการที่ก้าวไปๆ รู้ในอาการนั้นเท่านั้น เท้าก้าวไปๆ ก็รู้ แต่ไม่มี รูป ไม่มีอะไรทั้งนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ท่าน ก็ต้องตั้งต้นใหม่ อย่าทำต่อไป เลิก หยุด แล้วก็ตั้งต้นกำหนดใหม่
เพราะฉะนั้น จึงได้เรียนว่าให้สังเกตเวลาที่กำหนดเดิน หรือกำหนดนั่ง แรกๆ เมื่อเข้าใจดีก็กำหนดไม่ผิด ให้สังเกตว่า มีความรู้สึกอย่างไร ทีนี้ทำไปๆ มันเคลื่อนไป พอเคลื่อนไปก็กลับมาตั้งต้นใหม่ พอชำนาญแล้วก็ทำถูกมาก ไม่ค่อยผิด ก่อนที่จะชำนาญก็ต้องทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็จริง แต่ถ้าไม่เข้าใจมาก่อนก็ทำไม่ถูกอยู่ดี จะต้องเข้าใจก่อนแล้ว ก็ไปหัดทำจนชำนาญ ระหว่างทำงานก็ต้องคอยสังเกตว่า อะไรมันขัดข้องอะไรเป็นยังไง สังเกตว่า เวลานั่งทำไมรู้สึกอย่างนั้น ทำไมมีอาการอย่างนี้ เวลาเดินทำไมมีอาการอย่างนี้ ต้องสังเกตนะ แล้วก็มาบอกจะได้รู้ว่า อะไรมันขาด อะไรมันเกิน ดูถูกหรือไม่ถูกผิดตรงไหน ผู้ทำงานอาจจะยังไม่รู้ก็ได้
ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้เสียก่อนก็อาจจะยาก เสียเวลาเหมือนกับเราเดินผิดทาง ถ้าเรารู้เสียก่อนมันก็กลับมาได้เลี้ยวทางนี้ ตรงนี้แยกไปนิดหนึ่ง หรือสังเกตว่า เอ ! อันนี้ไม่ใช่ เราก็กลับมาได้ ทีนี้ถ้าไม่รู้ก็เดินเรื่อยไกลออกไปทุกที กลับมาก็ไม่ถูก เพราะไม่ได้จำว่า ที่ถูกเป็นอย่างไร บางทีเดินไปไกลแล้วก็ไม่อยากกลับมาเลย เรียกกลับก็ไม่กลับ มันจะไปท่าเดียว มันจะไปแต่อารมณ์นั้น มันจะให้รู้สึกอย่างนั้นอย่างเดียว อันนี้ต้องสังเกต เพราะมันเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของเหตุผลทั้งนั้นเลย สังเกตตามเหตุผลของธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องการเห็นรูปนามนี่ บางคนพอนั่งปุ๊บลงไปก็จะให้เห็นรูปนามทันที บางทีรูปก็ไม่ได้กำหนด คือ ไม่ได้กำหนดรูปนั่ง เมื่อนั่งลงไปก็มุ่งไปเพื่อจะเห็นรูป ใจมันมุ่งไปจะดูรูป แต่ไม่ได้กำหนดรูปนั่ง ขอให้ระวังให้จงหนักทีเดียวอันนี้ เดินก็เหมือนกัน พอลุกขึ้นเดินใจมันก็มุ่งไปจะเห็นรูปนาม แต่ไม่ได้ดูเลย รูปเดิน มันหลุดไปแล้ว เพราะใจมันมุ่งไปเสียปัจจุบันไปแล้ว ยังไม่ได้เห็นรูปเดิน แต่ใจมันเอื้อมไปแล้ว ก็ทำให้ทิ้ง "ปัจจุบัน" และก็ไม่มีวันที่จะเห็นด้วย อันนี้ก็จะต้องระวังเอื้อมไปไม่ได้เลย
แม้ว่าจะเคยเห็นแล้วยังไม่เห็นอีก พอนั่งก็อยากจะเห็นสิ่งที่เคยเห็นแล้วอีก ก็ไม่มีวันได้เห็นอีก เพราะเวลาเห็นสิ่งที่เคยเห็นแล้วอีก ก็ไม่มีวันได้เห็นอีก เพราะเวลาเห็นนั้นเราไม่ได้นึกว่าจะเห็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ เวลานั้นจิตได้ปัจจุบันดีก็เห็นขึ้นมาเอง ทีนี้เมื่อเห็นแล้วก็นึกอยู่ว่าอยากจะเห็นอีก เมื่อตั้งใจจะเห็นอีกจิตก็มุ่งถึงอารมณ์ที่แล้วมาที่เคยเห็น ตรงนี้ก็เลยเสีย ก็ไม่มีวันที่จะเห็นอีก ยิ่งหาก็ยิ่งส่ายไปใหญ่ เพราะว่ามันจะต้องเห็นที่ปัจจุบัน ถ้ายิ่งหามันก็ยิ่งห่างกับปัจจุบัน ทุกที่ๆ ธรรมแสดงอยู่ที่ปัจจุบัน อันนี้ก็ต้องระวัง โดยมากจะได้ปัจจุบันกันน้อยที่สุด
คำว่า "ปัจจุบัน" ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกัน สมมุติว่าเวลานั่งดูรูปนั่ง รู้สึกด้วยปัจจุบันนั้นจะรู้ที่ไหน ? รู้สึกที่ไหนท่านทราบหรือยัง ? ถ้ารู้สึกเป็นปัจจุบันแล้ว รู้สึกที่ไหน ? ถ้า "รู้สึก" แล้วจะต้องออกมารู้ ที่ท่านั่ง ถ้านึกจะไม่รู้ที่นี่ นึก อยู่ในใจ ใจไปนึกถึงรูปนั่งมันก็ไม่ได้มารู้อยู่ที่ท่านั่ง อันนี้ท่านก็ต้องสังเกตว่า จิตจะต้องออกมารู้ที่ท่านั่งถึงจะเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ว่านึกถึง นึกถึงรูปนั่งแล้วก็รูปนั่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อันนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นรูปนั่ง มันละเอียด มันเป็นงานของใจ แล้วมันนิดๆ หน่อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มีเหตุมีผล ถ้าเราจะนึกว่า ไม่จำเป็นไม่ได้ บางทีนิดๆ นั่นแหละสำคัญ ถ้านิดๆ นั่นไม่ได้ มันก็จะเลยไปเลย-ก็ผิดไป
ท่านไม่ต้องไปสนใจว่า วิปัสสนาจะได้หรือยัง จะเห็นหรือยัง ? จะเอื้อมไปในอนาคตอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า เวลานั่งอย่าเอื้อมไป จิตอย่าเอื้อมไปว่า จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นเกิดดับ อันนี้ไม่ใช่ "ปัจจุบัน" แต่เป็น อนาคต จะเห็นอย่างไรได้ ถ้าเห็นก็จะต้องเห็นรูปที่กำลังดูอยู่นั่นแหละ ทีนี้เมื่อจิตเอื้อมไปก็แสดงว่าไม่ได้ดู เพราะเอื้อมไปข้างหน้าเสียแล้ว เหมือนนัยน์ตาเรานี่เหลือบไปนิดหนึ่งตรงหน้านี้ก็ไม่เห็นเสียแล้ว อันนี้ต้องระวัง ต้องให้ได้ปัจจุบัน เพราะเช่นนี้ จึงเรียนให้ทราบทุกท่านว่า ที่เข้ากรรมฐาน นั่งกรรมฐานหรือเปล่า นี่ท่านนั่งกรรมฐานกันหรือเปล่า ?
น. - ไม่ได้นั่งกรรมฐาน
อ. - แล้วนั่งหรือเปล่าล่ะคะ ?
น. - นั่ง
อ. - นั่งทำไม ?
น. - นั่งเพื่อให้รู้อิริยาบถนั่ง
อ. - นี่ไม่ผิด ยังไม่ผิด แล้วเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ เขาบอกหรือเปล่าว่า เวลาเปลี่ยนอิริยาบถให้ทำความรู้สึกอย่างไร ?
น. - นั่งเมื่อยก็ต้องเปลี่ยน
อ. - นั่นแหละค่ะ ก็เหมือนเขาบอกว่า นั่งต้องแก้ทุกข์ เดินก็เหมือนกัน อย่ารู้สึกว่า เดินกรรมฐาน ถ้ารู้สึกว่าเดินกรรมฐานก็ไม่ได้ปัจจุบันแล้ว เดินกรรมฐานจะต้องเดินเอาอะไรสักอย่างหนึ่ง เดินเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง พอเดินเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง เดินจะเอาก็เดินเพื่อกิเลส ความรู้สึกอย่างนี้ก็เป็นที่อาศัยของกิเลสแล้ว กิเลสจะต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการจากรูปเดิน ทีนี้ตัวเองก็รู้สึกว่า เดินนี้เป็นสาระ จะนำประโยชน์มาให้ จะให้เราเห็นอะไรต่ออะไร
ถ้าเห็นธรรม ก็เห็นรูปเดินนั่นแหละ ไม่มีสาระ รูปเดินนั่นแหละไม่ใช่ตัว รูปเดินนั่นแหละไม่เที่ยง รูปเดินนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าเดินเพื่อจะเห็นไม่เที่ยงอย่างนี้ไม่ได้ ก็ดูที่รูปเดินนั่นแหละ ถ้าจะเห็นมันก็เห็นขึ้นมา ถ้าเราดูถูก มีโอกาสได้พิจารณาถูกต้องได้มากก็จะเห็นขึ้นมา ขออย่าเดินกรรมฐาน อันนี้ห้ามยากจริงๆ ด้วยเหตุนี้ จึงได้บอกว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้ใช้อิริยาบถ ไม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าใช้อิริยาบถโดยไม่จำเป็นแล้ว ต้องเป็นที่อาศัยของกิเลส เมื่อกิเลสเข้าไปอาศัยในความรู้สึกอันนั้นแล้ว ปัญญาจะเข้าไปทำงานหรือถือสิทธิ์เข้าไปในที่นั้นไม่ได้ เพราะกิเลสเข้าไปปกครองก่อนแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีวิธีกันไม่ให้กิเลสเข้า ทำอย่างไรเล่า ? จิตเราต้อง รู้สึกอยู่ในปัจจุบัน ไม่เอื้อมไป อนาคตกับอดีตกิเลสก็เข้าไม่ได้ อารมณ์ปัจจุบันมันก็กั้นไม่ให้กิเลสเข้า ถ้าเอื้อมไปอดีตกับอนาคตก็จะเป็นที่อาศัยของกิเลสแน่ เวลาไม่จำเป็นไม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เวลาจะเปลี่ยนก็ต้องรู้เหตุเสียก่อนว่าเปลี่ยนเพราะเหตุใด คนเราไม่เปลี่ยนอิริยาบถก็ไม่ได้เพราะว่าเมื่อยเป็นทุกข์ แต่เราไม่ได้พิจารณาว่า ความจริงนั้นเราจะต้องเปลี่ยน ถ้าไม่พิจารณาให้ถูกต้องเข้าถึงความจริงแล้ว ต้องอยากเปลี่ยน นั่งเมื่อยแล้วก็อยากนอน เมื่ออยากนอนแล้วปัญญาจะเข้าไปสอนธรรมเราในที่นั้นก็ไม่ได้ เพราะว่ากิเลสมันเข้าไปสอนแทนเสียแล้วอยากนอนนี้ ผิดหรือถูก ?
น. - ไม่ถูก
อ. - ถ้าถูกจะเป็นอย่างไร ?
น. - ดูทุกข์มันเสียก่อน
อ. - ตอนนั้นมันยังไม่ได้เปลี่ยน พูดถึงว่า ตอนที่เราจะเปลี่ยนถ้าเราจะทำความรู้สึกให้ถูก เวลาจะเปลี่ยน เราจะทำอย่างไร ?
น. - เมื่อมีทุกข์เราก็เปลี่ยน
อ. - นั่นซิ แล้วจะทำอย่างไร เวลาจะเปลี่ยนจะทำอย่างไร ? จะเปลี่ยนทำไม ? เมื่อมีทุกข์แล้วจะเปลี่ยนทำไม ?
น. - เปลี่ยนเพราะเราเห็นว่า รูปนั้นมันเป็นทุกข์ จึงเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์
อ. - นั่นซิ ทีนี้ตรงนี้แหละที่เราจะต้องเปลี่ยน นั่งแล้วเมื่อยก็จะต้องนอน นอนทำไม นอนให้สบาย ทำความรู้สึกอย่างนี้ไม่ได้ ถ้านอนให้สบาย สุขวิปลาสก็เข้าทันที เข้าในความรู้สึกนั้นทันที ความรู้สึกนั้นเป็นสุขวิปลาสแล้ว อันนี้ไม่ได้ มันต้องละเอียดลออหน่อย อย่าไปนึกว่า ทำวัน ๒ วัน ๓ วันก็ได้ ๓ วันนี่เข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ ทำถูกหรือยังก็ยังไม่รู้ ๓ วัน ๗ วันนี่ บางทียังไม่รู้ว่าทำถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต้องสอบทุกวันๆ ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ก็เสียเวลาหน่อย แต่ว่ามันก็ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียเวลาในการฟังก็จริง แต่ไม่เสียเวลาในเวลาทำ
เราก็ต้องทำความรู้สึกว่า ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ว่า อยากเปลี่ยน ถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนแล้วไม่เปลี่ยนจะได้ไหม ? เพราะฉะนั้น ที่เราทำความรู้สึกว่า อยากนั่ง อยากนอน อยากยืน อยากเดินนี่น่ะ ผิด ความรู้สึกนี้ผิดเสียแล้ว ความจริงไม่อยากนั่งก็ต้องนั่งใช่ไหม ? ไม่อยากนั่งล่ะ ฉันจะนอนอยู่อย่างนี้แหละตลอดไปได้ไหมไม่ได้ เราไม่ได้พิจารณาให้ถึงเหตุผล ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญาที่จะเข้าไปรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เราจำเป็นต้องนั่ง แต่ไม่ได้พิจารณาให้ถูกต้องกับเหตุผล กิเลสก็เข้าอาศัยเลยเข้าใจว่า อยากนั่ง อยากนอน อยากกิน อยากหมดทุกอย่าง ไม่พิจารณาแล้ว มันก็อยากหมดทุกอย่าง กิเลสมันก็เข้าไปเรื่องๆ แล้วปัญญาจะมีโอกาสเข้าไปทำงานอย่างไรได้ กิเลสมันเข้าไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยากนอนนะ ความจริงต้องนอน ถ้าไม่นอนไม่ได้ หลับก็เหมือนกัน ไม่หลับก็ไม่ได้
น. - ต้องนอนนี่กิเลสเข้ามาไหม ?
อ. - ไม่เข้า, ต้องนอนนี่ เขาต้องถูกบังคับ ถ้าไม่บังคับจะเปลี่ยนทำไมกันเล่า ใครบังคับให้เปลี่ยน ? เปลี่ยนเพราะเหตุอะไร ? ทำไมต้องเปลี่ยน ?
น. - เปลี่ยนเพราะมีทุกข์เข้ามา
อ. - เห็นไหมล่ะ ? เพราะทุกข์นั่นแหละมันบังคับ ทุกข์นั่นแหละมันบีบคั้น เราทนไม่ได้ เราถึงต้องเปลี่ยน แต่เราไม่ได้พิจารณาให้ถึงเหตุผล กิเลสก็เลยหลอกเราว่า อยากเปลี่ยน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเลย ทีนี้เมื่อเราเอาของที่เป็นเท็จ ที่ไม่มีเหตุผลตรงกับความจริงมาเสนอปัญญาแล้วปัญญาจะได้ความจริงอะไร ก็ได้แต่ของไม่จริงเรื่อยไป เราจะต้องเอาความจริงที่ถูกต้องตามเหตุผลเสนอปัญญา ปัญญาจึงจะมีโอกาสพิจารณาเหตุผลถูกต้องได้มากปัญญาจึงจะเห็นถูกขึ้นมาได้ถึงจะตัดสินว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราถึงจะได้ความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา คือ ความรู้สึกที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาก็รู้ถูกแล้วว่า รูปอะไรที่เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดแล้วในรูปอะไร ทุกข์เฉยๆ ก็ไม่ได้ รูปอะไรที่เป็นทุกข์ก็ต้องรู้ ถ้าไม่อย่างนั้น ประเดี๋ยว เราเป็นทุกข์อีก เรา ก็ไปอยู่กับ รูป แล้ว แต่พอเกิดทุกข์เราไปอยู่กับ ทุกข์ อีก ฉะนั้นต้องรู้ว่า รูปอะไรเป็นทุกข์
น. - เช่นอย่างกับรูปนั่งเวลานี้ นั่งมานานแล้วรู้สึกเมื่อย แล้วทำอย่างไร ?
อ. - รูปนั่งเป็นทุกข์นี่ เรารู้แล้วใช่ไหม เพราะเราดูรูปนั่งอยู่ เมื่อรูปนั่งเกิดทุกข์ เราก็ต้องรู้ว่า รูปนั่งเกิดทุกข์แล้วจะต้องเปลี่ยน
น. - ตอนนี้ปัญญาเกิดแล้วหรือยัง ?
อ. - ยังไม่เกิด แต่ว่าเราให้เหตุผล เราหาเหตุผลให้ตรงกับความเป็นจริง ให้ปัญญาพิจารณา ถ้าเราเอาความไม่จริงมาเสนอแล้ว ปัญญาจะพิจารณาได้ความจริงได้อย่างไร ? เป็นการนำเหตุผลที่ถูกให้ปัญญาพิจารณาว่า ต้องเปลี่ยน ต้องเปลี่ยน นี่เขาบังคับ ใช่ไหม ท่านชอบไหม เขาบังคับให้นั่ง ชอบไหม ?
น. - ไม่ชอบ
อ. - เมื่อไม่ชอบ กิเลสจะเข้าอาศัยรูปนั่งได้อย่างไร, กิเลสก็ไม่เข้า รูปเก่าน่ะ กิเลสไม่ชอบละ แต่อยากได้รูปใหม่ใช่ไหม ? ถ้าอยากได้รูปใหม่ กิเลสก็เข้าอาศัยทันที โลภะเข้าอาศัย แต่ถ้าถูกบังคับให้นั่งจะไม่พอใจเลย รูปนั่งนี่เหมือนกับนักเรียนที่ถูกลงโทษให้ยืน ๕ นาที แหมไม่ชอบเลย ไม่อยากยืนเลย แต่ว่า ต้องยืนเพราะครูบังคับ รูปนั่งนี่ก็เช่นกัน ทุกข์ บังคับยิ่งกว่าครูเสียอีก ความทุกข์นี่ บังคับข่มขี่เราอยู่เรื่อยทุกอิริยาบถเลย
น. - โปรดอธิบาย ตอนที่จะให้ปัญญามันเข้าหน่อยเถอะ
อ. - ก็นี่แหละปัญญาละ ! ความจริงนี่แหละเป็นความจริงไหมเล่า ?
น. - มันก็รู้อยู่แล้วละ ถ้าอย่างนั้นความรู้อันนี้ก็เป็นปัญญาแล้ว ที่เรารู้สึกอย่างนี้น่ะ
อ. - ยังซิ ยังพิจารณาอยู่ พิจารณาเพื่อให้รู้ความจริง แต่ทีนี้เราจะต้องเอาความจริงนี้ขึ้นมาเสนอให้เขารู้อยู่เสมอ ให้พิจารณาอยู่เสมอ
น. - ก็รู้อยู่แล้วว่า เป็นทุกข์
อ. - อ้าว ก็รู้แล้วว่า เป็นทุกข์ ก็ที่รู้นี่เรายังไม่เกิดปัญญานี่ยังไม่เกิด ต่อเมื่อเกิดปัญญาแล้วนั่นแหละท่านก็จะรู้เองว่า ปัญญาเขาเกิดขึ้นทำงาน เขาตัดสินแล้วน่ะ คนละอย่างกัน ไม่เหมือนกัน
น. - ทีนี้เมื่อรูปนั่งเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนไปเป็นนอนแล้วปัญญาก็ไม่เกิด
อ. - ก็ดูรูปนั่งใช่ไหม ดูรูปนั่งอยู่ เมื่อเปลี่ยนเป็นนอนเปลี่ยนทำไม ?
น. - นั่งจนเมื่อยปวดทนไม่ไหวแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นนอนบ้าง
อ. - เปลี่ยนเป็นนอน จะเปลี่ยนทำไม ?
น. - เปลี่ยนให้มันพ้นทุกข์ไป
อ. - อ้าว ก็อย่างงั้นซิ ต้องรู้สึกว่า แก้ทุกข์ไม่ใช่เปลี่ยนให้สบาย
น. - ตรงนี้ปัญญาเกิดหรือยังตอนนี้ ?
อ. - เดี๋ยว ยัง เป็นแต่เสนอปัญญาว่า นี่ฉันจะเปลี่ยนเพราะเป็นทุกข์ ฉันจะเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์ บอกปัญญาให้รับรู้ไว้ว่ายังงี้ ทีนี้ปัญญาก็รับไว้พิจารณาเหตุผล ถึงจะนำเข้าถึงสัจจะความจริง ทุกข์นี้ เป็น ตัวสัจจะ เป็นตัวอริยสัจ แต่เราไม่เห็นเพราะเราไม่ได้พิจารณาให้มันแน่นอน การที่เราจะถึงสัจจะนั้นต้องแน่นอนทีเดียว แต่การแน่นอนก็ต้องอาศัยที่พิจารณาบ่อยๆ พิสูจน์แล้วแน่นอน ต้องเป็นอย่างนี้ นี่ยังอยู่ในระหว่างให้ปัญญาพิสูจน์ เสนอว่านี่ความจริง คือ ฉันต้องเปลี่ยนอย่างนี้เสนอให้ปัญญาพิจารณาคล้ายๆ กับศาลรวบรวมคดีมาเสนอให้ผู้พิพากษา
น. - ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา
อ. - ถูกแล้ว ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ผู้พิพากษาก็ต้องพิจารณาเหตุผล จนกระทั่งรอบคอบแล้วถึงจะตัดสินลงไปได้ นี่เรายังอยู่ในระหว่างพิจารณา แต่ว่า ต้องมีคดีเสนอนะ ถ้าเอาคดีเหลวๆ ไหลๆ ไม่ตรงกับความจริงมาเสนอ ผู้พิพากษาก็ตัดสินผิดเหมือนกัน จะถูกได้อย่างไร เพราะไม่เอาของจริงๆ มาบอกนี่ ปัญญาเราก็เหมือนกัน เราจะทำความรู้สึกอะไรให้ตรงกับความจริง อิริยาบถเก่าน่ะ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นทุกข์
ทีนี้อิริยาบถใหม่นี่น่ะซี ท่านถึงได้บอกว่า เพราะไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ อิริยาบถนี่จึงปิดบังทุกข์เสียไม่ให้เห็นคือ อิริยาบถใหม่ เพราะไม่ได้พิจารณา พออิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถใหม่ก็เป็นสุข เรารู้สึกอย่างนี้อยู่เรื่อย อ้าว นอนเป็นทุกข์แล้ว อ้าวนั่ง เรารู้สึกว่า นั่งเป็นสุข เราถึงได้นั่งอย่างนี้ แต่ทีนี้เวลาปฏิบัติรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ ต้องนั่ง ไม่ใช่ อยากนั่ง แล้วต้องนั่งนี่ก็ตรงกับความจริงด้วย ส่วนอยากนั่งนั้น เข้าใจผิด เพราะถ้าไม่อยากนั่งก็อย่านั่งซิ ไม่ได้ ต้องนั่ง จึงต้องพิจารณาให้ถูกว่า ต้องนั่งเพื่อแก้ทุกข์ ถ้านั่งเพื่อสบาย ผิดแล้ว ทีนี้ทำเพื่อแก้ทุกข์ นี่กิเลสไม่เข้าแล้ว การแก้มันก็เป็นตัวทุกข์ด้วยเหมือนกัน เหมือนกับการกินยา กินยาเพื่ออะไร เพื่อแก้โรค แล้วมีไหมที่ตัณหาอยากกินยา
น. - ไม่มี
อ. - ไม่มี กิเลสก็เข้าไม่ได้ ความรู้สึกอย่างนี้ กิเลสตัณหาเข้าไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกก็รู้สึกว่า กินยาเพื่อสบาย แต่เรารู้ว่ากินยานี่ ไม่มีใครเลยที่จะอยากกิน ทีนี้ถ้าเรานั่งเพื่อสบาย ความรู้สึกว่า รูปใหม่นี่สบาย เมื่อสบาย กิเลสก็เข้าอาศัยทันที เพราะฉะนั้น เราจึงกันความรู้สึกใหม่ โดย โยนิโสว่าต้องเปลี่ยน ไม่ใช่อยากเปลี่ยน ไม่ใช่สบาย แต่เพื่อแก้ทุกข์ โยนิโสมนสิการนี่สำคัญมาก เป็นอาหารของปัญญา
น. - ถ้าแก้ทุกข์ก็เป็นปัญญาใช่ไหม
อ. - ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดก็แล้วแต่ แต่ว่า ตรงกับความจริง
น. - เกิดไหมเล่า ?
อ. - ก็แล้วแต่ เสนอเขาบ่อยๆ เข้า เขาก็ต้องเกิดละ เขาก็ต้องตัดสินแน่ละ ปัญญาก็ตัดสินแน่ลงไปเลย แล้วเราจะรู้เอาเวลาที่เขาตัดสินแล้วน่ะ พอเราได้อารมณ์ของปัญญาที่แน่นอน ได้ความรู้สึกจากปัญญาแน่นอนแล้ว ท่านจะรู้เอง อันนี้ไม่ลำบาก
น. - อาจารย์บอกไม่ได้ ใช่ไหม ?
อ. - บอกได้ แต่ไม่จำเป็น เดี๋ยวท่านก็ไปอยากได้ปัญญาเสียพอบอกเข้าแล้ว ท่านก็ไปอยากได้ทีเดียว อยากจะรู้อย่างนั้นบ้าง อย่างที่ดิฉันบอกใช่ไหม
น. - ก็ต้องมีเป็นแนวไว้บ้าง
อ. - ไม่ต้อง ไม่ต้องบอกเลย ท่านอยากได้รสเปรี้ยวใช่ไหม ดิฉันบอกให้ไปกินมะนาวก็แล้วกัน ไม่ต้องไปบอกว่ารสมันเป็นอย่างไร พอท่านไปกินมันก็ปรากฏขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปบอกก่อนว่าเปรี้ยว
เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด กิเลสน่ะ มันเข้าตรงความรู้สึก ปัญญาก็เกิดขึ้นตรงที่ความรู้สึกเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีโยนิโสมนสิการให้ถูกต้อง แล้วก็จะต้องเป็นปัจจัยของกิเลส ถ้ามีโยนิโสมนสิการก็ต้องเป็นปัจจัยแก่ปัญญาสองอย่างเท่านั้นแหละ ทีนี้เมื่อมีความรู้สึกเป็นปัจจัยแก่กิเลส กิเลสมันก็เอาไป ปัญญาก็ไม่ได้กิน ทีนี้เรามาเข้ากรรมฐาน เราก็ต้องหาความรู้สึกที่จะเป็นปัจจัยแก่ปัญญา อย่าให้กิเลสมันเข้า กิเลสมันเข้ามันก็ปิดบังเสีย ทีนี้ถ้ากิเลสไม่เข้า เราก็มีโอกาสที่จะดูได้นานๆ สมมุติว่าเรานั่งรถผ่านแพล็บเดียว เราอ่านหนังสือไม่ทัน เพราะเราไม่ไว แต่คนที่เขาชำนาญรถผ่านไปนี่เขาอ่านได้ แต่เราต้องดูนานๆ จึงจะทัน
คนรุ่นเรานี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก่อนท่านฟังเทศน์ก็รู้เรื่อง เรานี่เอาเถอะ ทำให้รู้ก็ยังดีแต่เพียงว่า เข้าใจทำงานเท่านั้นก็ยังลำบาก บางทีก็ไม่แน่เข้าใจไม่แน่นอนก็อาจจะลืมเสียบ้าง อะไรอย่างนี้ พอถึงเวลา เขาให้ทำอย่างนั้นก็ลืมไปแล้ว บางคนก็ลืม ลุกขึ้นยืน ไปแล้วยังไม่ทันรู้เลยว่าแก้ทุกข์ ก็กลับลงนั่งใหม่ นั่งใหม่แล้วตัวก็ทำความรู้สึกว่า แก้ทุกข์ จะลุกขึ้นยืนอย่างนี้ไม่ตรงกับความจริง อย่างนี้ใช้ไม่ได้แล้วก็แล้วไปเลย อาการอื่นยังมีอีกเยอะ ไม่ใช่จะมีแต่หนเดียว เราก็ยังต้องนั่ง ต้องยืนอีกเยอะ แต่ก็ต้องรู้ว่าเมื่อกี้ลืมไป คือ ให้รู้ตัวว่า เผลอไป ทีหลังจะได้จำได้ไม่ลืม อันนี้แหละสำคัญมากทีเดียว
เพราะฉะนั้น เรื่องผลจึงไม่ต้องไปหวังจะได้เห็นอะไรหรือยัง เกิดดับไตรลักษณ์นั่นมันเป็นผลของงานหน้าที่ของเรา คือ ทำงานให้ถูกต้องเท่านั้นแหละ เงินดาวเงินเดือนไม่ต้องไปนึกถึง ถ้าท่านทำผิดแล้วอยากได้เงินเดือนเท่าไร เขาก็ไม่ให้ หน้าที่เราต้องทำให้ดี ทำให้ถูก นี่ก็เหมือนกัน เวลามาเข้าวิปัสสนานี่ ปัญญาวิปัสสนาก็ดี เห็นหรือไม่เห็นนามรูป ไตรลักษณ์เกิดดับก็ดี ไม่ต้องนึกถึง ทำงานให้ถูกว่า เวลานั้นเขาให้กำหนดอย่างไร เวลานั้นเขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร เช่น อย่างเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ นี่เขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร เช่น อย่างเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ นี่เขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร อ้อ.........เขาต้องให้รู้เสียก่อนว่า ทุกข์มันเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ว่า ทุกข์เราก็ไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนเพราะอะไร ก็จะกลายเป็นเราอยากเปลี่ยนทุกที เราต้องรู้เหตุว่า ทุกข์มันเกิดขึ้นเสียก่อน ถ้าทุกข์เกิดขึ้นแล้วจะเปลี่ยนทำไม ต้องโยนิโสมนสิการไว้ นี่กันกิเลสที่จะขึ้นข้างหน้าว่า จะเปลี่ยนทำไม ถ้าเปลี่ยนเพื่อสบายก็กันไม่ได้ แล้วจะเปลี่ยนทำไม เพื่อแก้ทุกข์
การแก้ทุกข์นี่ มันก็ไม่ใช่เป็นความสุขเหมือนกันถ้าเราพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะว่า อิริยาบถใหญ่ ก็เหมือนกับ คนเจ็บ อิริยาบถย่อย ก็เหมือนกับ คนพยาบาล อยากจะลุกขึ้น แต่อิริยาบถย่อยมือจะท้าวหรือจะเกาะไม่ได้ก็ลุกขึ้นไม่ได้ อยากจะพลิกตัวก็ไม่ได้ อิริยาบถย่อยก็เหมือนกับคนพยาบาล ต้องคอยพยาบาลคนเจ็บกันเรื่อยไปก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ได้เป็นทุกข์เจ็บป่ว่ยเหมือนคนเจ็บ อิริยาบถเก่า น่ะ เป็นตัวเจ็บ ตัวปวด ตัวเมื่อย แต่ อิริยาบถใหม่ ก็ช่วยแก้ แก้เหมือนกับคนพยาบาล
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นทุกข์จากอิริยาบถเก่าก่อน อิริยาบถใหม่ยังไม่เห็นทุกข์ เพราะว่า มันสูงกว่าไม่ใช่ ทุกขเวทนา แต่เป็น สังขารทุกข์ นั่นเองต้องแก้ไข ต้องช่วยเหลือ ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องอะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นต้องเห็นทุกขเวทนาก่อนพอมีปัญญาดีขึ้นก็จะเห็นสังขารทุกข์อันนี้ ทีนี้ก็จะมีแต่ทุกข์เท่านั้นเข้าถึง สัจจะ แล้ว ไม่มีสุขสัจจะ สุขอริยสัจมีไหม ? มีแต่ทุกขอริยสัจใช่ไหม พอเข้าถึงอริยสัจแล้วละก็ ไม่มีหรอกสุข ทีนี้ปัญญาเข้าถึงสัจจะความจริงแล้ว อย่ากลัวเลยทีนี้เขาก็พาไป จะไปไหนยากจะได้อะไร นิพพานก็ได้ เขาก็พาไปให้ได้เห็น
ขณะนี้หน้าที่ก็มีการฟังแล้ว ก็เข้าใจแล้ว เวลาทำก็คอยสังเกตว่า ตรงกันไหม ถ้าไม่ตรงก็ทำความรู้สึกเสียใหม่ มีหน้าที่อยู่แค่นี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องสอบการปฏิบัติกัน สอบเพื่ออะไร ไม่ใช่จะสอบให้เกิดปัญญาวิปัสสนาอะไร สอบดูว่า เข้าใจหรือไม่ที่บอกไปทำถูกแล้วหรือยัง เวลานั้น ทำความรู้สึกอย่างไร เพราะว่า บางทีลืมไปก็จะได้บอกให้ใหม่ ถ้าไม่บอกก็ลืมไปเลย กลับมาไม่ถูก ทำไม่ถูกก็เสียเวลาไป ยิ่งคนอายุมากๆ แล้วจะจำอะไรได้ บางทีสาวๆ หนุ่มๆ ก็จำไม่ค่อยจะได้ การที่สอบก็เพื่อจะให้รู้ว่า ทำถูกหรือยัง หน้าที่ของอาจารย์ก็สอนให้ทำให้ถูกเท่านั้น
ส่วนการที่ท่านจะรู้หรือไม่รู้ จะรู้ช้าหรือเร็วนี่เป็นเรื่องของ บารมีหรือปัจจัย มีมาอย่างไร ไม่มีใครช่วยกันได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ ท่านก็เป็นผู้สอนเหมือนกัน เพียงว่าให้ได้รูปได้นามเถอะ เห็นรูปเห็นนาม เท่านี้ก็พอแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว ทีนี้เกือบไม่ต้องสอบแล้ว พ้นหน้าที่ของครูบุคคลแล้ว ต่อไป นามรูปก็ จะเป็นครู ธรรมะทั้งหมดอยู่ที่ นามรูป ทั้งนั้น จะเป็นไตรลักษณ์ จะไม่เที่ยง จะเป็นทุกข์ จะไม่ใช่ตัวตน จะเป็นอริยสัจ หรืออะไรก็อยู่ที่นามรูปทั้งนั้นเลย เมื่อท่านได้นามรูปเป็นครูแล้ว ท่านก็ตามดูนามรูปไปเถอะ ทีนี้เขาก็สอนให้ ดูมากก็รู้มาก ทุกอย่างเลย แม้กระทั่งนิพพาน นามรูปก็สอนให้ บุคคลสอนไม่ได้ สอนได้แต่เพียงว่าให้ ทำให้ถูก เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ที่เราเสียเวลาทำแล้ว ก็ยังไม่ได้อะไร บางทีเราทำไม่ถูกเลย ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ และอีกประการหนึ่ง ท่านมาปฏิบัติที่นี่แล้ว ท่านจะต้องรู้ว่า ที่เขาให้ปฏิบัติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไรหรือเปล่า ออกไปแล้วบางทีก็ไม่รู้ว่า ทำไมเขาให้ทำอย่างนี้มีคนเขาถามว่า คุณไปทำวิปัสสนาเขาให้ทำอย่างไร เขาก็สอนให้รู้นั่ง นอน ยืน เดิน ให้ดูรูป นั่งอะไรก็ว่าไปตามที่จำได้ ถ้าซักว่า ทำไมเขาต้องให้ทำอย่างนั้นด้วยเล่า ทำไมเราจะดูใจอย่างเดียวให้สงบ ให้เป็นสมาธิอย่างเดียวแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ดีกว่าหรือ เขาให้กำหนดรูปนามเพื่ออะไร ทำไมจะให้รู้รูป รู้นาม เพื่ออะไร ?
น. - ให้รู้รูปนามก็เพื่อทำลายตัวตน
อ. - นั่นน่ะซี ถ้าไม่รู้รูปนามละก็ทำลายไม่ได้ แล้วรู้ที่ไหน ตัวตนน่ะ มันเกิดที่ไหน ?
น. - ตัวตนมันก็อยู่ในรูปนามนั่นแหละ !
อ. - เกิดที่ไหนล่ะ
น. - เกิดที่ไหนก็ไม่ทราบ
อ. - ถ้าไม่รู้ ก็รู้เสียซิ เวลาเขาให้ปฏิบัตินี่น่ะ เขาให้ทำลายที่ไหนล่ะ เขาให้ดูรูปนั่ง เขาให้ดูที่ไหน ?
น. - ให้ดูกิริยาอาการของรูปที่ปรากฏ
อ. - ให้ดูนั่ง ต้องเอาให้แน่ลงไปเลย
น. - เอาที่นั่ง
อ. - ทำไมถึงเอาที่นั่ง ? ก็เพราะว่าเราน่ะมันอยู่ที่นั่ง เรานั่งใช่ไหม ถ้าไม่มีนั่ง เรานั่งมันก็ไม่มี ถ้ายังไม่นอน เรานอนมันก็ไม่มี พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่ เดิน เกิดขึ้นเราเดินถึงจะมี เพราะฉะนั้น เขาจึงให้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เพื่อกันที่ จะรู้สึกว่า เรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน แต่ที่จะกันได้ก็ต้องรู้สึกแน่นอนว่า เป็นรูปจริงๆ ปัญญาต้องตัดสินชัดเจนแล้วว่า มันเป็นรูปจริงๆ มันไม่มีเราจริงๆ ไม่มีผู้หญิง ผู้ชายมานั่ง มีแต่รูป คือ ร่างกายนี่แหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี่แหละ เมื่อปัญญาตัดสินอย่างนี้แล้วถึงจะได้
จะขอยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง เช่น ที่เขาเจริญภาวนากันว่า พุทโธ พุทโธอรหัง อรหัง อย่างนี้ทำไมเล่า เราอยู่ที่อรหังหรือ ? เราอรหังนี่ไม่เคยมีใครนึกเลย ไม่มีเราเลยตรงนั้น แล้วจะไปทำลายเราได้อย่างไร เมื่อไม่มีเรา และเรานี่ต้องวิปัสสนาต้องปัญญาเกิดแล้ว เมื่อไม่มีเราในที่นั้นแล้ว ปัญญาจะเอาอะไรไปทำงาน, จะประหารกิเลสได้อย่างไร ? ในเมื่อไม่มีกิเลสให้ประหารตรงนั้น
แต่มันก็เป็นสมาธิได้ แต่ว่าเป็นปัญญาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จะเป็นอารมณ์ของปัญญา ปัญญาก็ไม่ทำงาน เมื่อปัญญาไม่ทำงานแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นสมาธิ ใจก็สงบเงียบเท่านั้น แต่ที่จะ ไปรู้รูป รู้นาม ไม่มี เมื่อไม่รู้รูป รู้นามแล้วเราก็ทำลายไม่ได้ นั่งนิ่งไป เป็นเราหรือไม่ เป็นเราก็ไม่รู้ เวลานั้นมันไม่มีเรา เวลานั่งสมาธิสงบแล้ว เวลานั้นไม่มีเราจะไปนึกอะไรว่า เป็นเราก็ไม่มี แต่เรามันไม่ได้ถูกทำลาย เพราะความรู้สึกมันไม่เคยเปลี่ยน พอออกมามันก็เป็นเราอีก
เมื่อปัญญาไม่ทำงานแล้ว ก็เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีโรคแล้วกินยา ยาจะวิเศษอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ ก็มันไม่มีโรคแล้วยาจะแสดงสรรพคุณอะไร มันก็เฉยๆ ไป เพราะฉะนั้น การที่เขาให้กำหนดนี่ก็ต้องมีเหตุว่า อ้อ.........ตัวตนมันเกิดขึ้นเวลานั้นๆ นั่งนั้นใครจะไม่รู้ว่า "นั่ง" เราอยู่บ้าน เราก็รู้ว่านั่ง เพราะฉะนั้น กิริยาที่นั่งไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนิดหนึ่งว่า รูปนั่งเท่านั้น จะนั่งท่าไหน จะนอนท่าไหน จะเดินก็ได้ เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนิดเดียวว่า เป็นรูปนั่ง สำหรับอิริยาบถจะอย่างไรก็ได้ เปลี่ยนเฉพาะความรู้สึกนิดเดียว จากเรานั่งเป็นรูปนั่งเท่านั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น